อาชีพใหม่ของนักบัญชีในยุคดิจิทัล
ท่ามกลางแรงกดดันจากวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี ในยุคดิจิทัล ซึ่งมีผลกระทบไปทุกภาคส่วนทั่วโลก วิชาชีพบัญชีก็เช่นกันที่ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพราะเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก หากไม่ปรับตัวก็อาจจะกลายเป็นแค่หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ในอดีตเท่านั้น
วิชาชีพบัญชีก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแส Digital Economy เพราะงานแบบเดิม ๆเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีและยื่นภาษีกำลังจะถูกแทนที่ด้วย ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์บน Cloud และ Blockchain เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับวิวัฒนาการเหล่านี้ ?
อนาคตของวิชาชีพบัญชีในยุคดิจิทัล
การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI หรือปัญญาประดิษฐ์, RPA และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาการเหล่านี้ นอกจากจะมาเปลี่ยนแปลงวิถีของการทำธุรกิจแล้วยังหนีไม่พ้นที่จะมีผลกระทบต่อตัวเราและสังคม
มีการคาดการณ์ว่า นักบัญชีส่วนหนึ่งจะหายไป ในขณะที่บางส่วนจะมีพัฒนาการที่ดี และจะมีแขนงอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอนาคต ในวงการบัญชี มีการถกเถียงกันว่าอะไรคือโอกาสใหม่ ๆ ของนักบัญชีแห่งอนาคต? และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวิชาชีพบัญชี ?
วิวัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วจนแทบไม่ได้ตั้งตัว เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ การที่งานเอกสาร งานบันทึกบัญชีซึ่งเป็นงานหลักของนักบัญชีกำลังจะถูกแทนที่ด้วย AI หรือระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และนักธุรกิจที่เป็นคนรุ่นใหม่ย่อมจะมองหานักบัญชีที่ชำนาญในเทคโนโลยี รูปแบบการทำงานก็จะเปลี่ยนไป งานแบบ Freelance ผ่านระบบ Cloud จะมาแทนที่งานประจำ
นักบัญชีแห่งอนาคตจึงจำเป็นจะต้องเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย นักบัญชีในศตวรรษที่ 21 ต้องสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของกระบวนการทางบัญชีที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน ชนิดที่ต้องปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดแบบถอนรากถอนโคน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด การศึกษา วัฒนธรรมและเทคโนโลยี และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ถ้านำความสามารถแบบวิศวกร (Engineering Abilities) มาผนวกกันเท่านั้น คำตอบของนักบัญชีรุ่นใหม่ คือการปรับตัวให้สามารถเป็น วิศวกรบัญชี “Accounting Engineering” ที่สามารถออกแบบวิชาชีพบัญชีใหม่ บนพื้นฐานของพัฒนาการทางเทคโนโลยี เช่น ข้อมูลดิจิตอล AI และการปฎิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4
ความสัมพันธ์ของวิชาชีพบัญชีและวิศวกร
งานของนักบัญชีและวิศวกร มีความเหมือนกันตรงที่ ต้องมีการเก็บข้อมูล มาวิเคราะห์ พัฒนาหาทางออกและนำเสนอรายงานต่อผู้มีหน้าที่ตัดสินใจ หน้าที่ที่เหมือนกันคือ การป้อนข้อมูลผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างเป็นระบบ และในวันนี้ภายใต้พัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้หน้าที่ของนักบัญชีและวิศวกรมีความเชื่อมโยงกัน เพราะหากมีมุมมองแบบวิศวกรจะทำให้นักบัญชีสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยียุคใหม่ให้เข้ากับโครงสร้างเดิมอันหลากหลายของวิชาชีพบัญชี
วิศวกรบัญชี“Accounting Engineering”จะต้องเป็นนักบัญชีมีความสามารถในการวิเคราะห์ คิด สื่อสาร
แก้ปัญหาปรับตัว มีความคิดสร้างสรรค์และมองสถานการณ์จากภาพใหญ่(Big picture) ได้
ประโยชน์ของการเอาความสามารถทางด้านวิศวกรมาใช้ ทำให้เกิดการคิด วิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นกระบวนการซึ่งจะช่วยให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิผลและ เร็วกว่าแนวคิดในการทำงานแบบเดิม ๆ ของนักบัญชี
โดย..นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ |