• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • ทำไม Google จึงเห็นความสำคัญของการเจริญสติ (Mindfulness) จนถึงขนาดบรรจุไว้ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร

ทำไม Google จึงเห็นความสำคัญของการเจริญสติ (Mindfulness) จนถึงขนาดบรรจุไว้ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • ทำไม Google จึงเห็นความสำคัญของการเจริญสติ (Mindfulness) จนถึงขนาดบรรจุไว้ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร

ทำไม Google จึงเห็นความสำคัญของการเจริญสติ (Mindfulness) จนถึงขนาดบรรจุไว้ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร

            ในประเทศไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเราเติบโตและคุ้นเคยกับคำว่าสมาธิ (Meditation) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการฝึกหรือเจริญสติเช่นกัน คนส่วนใหญ่มองสมาธิเป็นเรื่องของชาวพุทธ และเนื่องด้วยการทำสมาธิที่เราเห็น มักจะเป็นหลักสูตรที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-7 วัน และจัดตามวัดวาอารามเป็นหลัก ผู้ที่จะเสียสละเวลาไปเข้าหลักสูตรได้มักจะเป็นผู้สูงอายุ หรือถ้าเป็นวัยหนุ่มสาว ก็จะถูกมองว่าต้อง อกหัก รักคุดหรือมีปัญหาชีวิตอะไรบางอย่าง คนหนุ่มสาว วัยทำงานทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ห่างไกลวัดจึงไม่นิยม หรืออาจจะรู้ว่าสมาธิเป็นสิ่งที่ดีแต่ ตอนนี้ยังไม่มีเวลา รอให้สูงวัยก่อนนะค่อยพิจารณาอีกที

ในขณะที่คนหนุ่มสาววัยทำงานในประเทศไทย มองข้ามการทำสมาธิเพราะมองว่าเป็นเรื่อง “เสียเวลาทำมาหากิน”

            ในซีกโลกตะวันตกก็เป็นข่าวฮือฮาว่า บริษัท Google : Search engine ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาได้บรรจุหลักสูตร Mindfulness (การเจริญสติ) ในการพัฒนาบุคคลากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวะกรคอมพิวเตอร์ระดับหัวกระทิของโลก
            ผู้ริเริ่มหลักสูตรนี้คือ Mr. Chade Meng Tan พนักงานอันดับที่ 107 ของ Google ซึ่งเป็นชาวจีนจากประเทศสิงคโปรค์ที่สนใจการปฏิบัติธรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา
            หลักสูตรเจริญสติของ Google มีชื่อว่า Search Inside Yourself ซึ่งน่าจะเป็นการล้อเลียนกับการเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน Search Engine ที่ผู้คนต่างใช้ในการค้นหาสารพัดความรู้นอกกาย แต่หลักสูตรนี้กลับมุ่งหวังให้มีการกลับมาค้นหาความจริงในตัวเอง คือ “การมีสติอยู่กับปัจจุบัน-รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น -โดยไม่ตัดสินมัน” โดยมีพัฒนาการ เป็น 3 ขั้นตอน คือ


  1. Attention Training
    ฝึกให้มีสติจดจ่ออยู่กับปัจจุบันทำให้เกิดสมาธิและผ่อนคลาย ด้วยการเพ่งความสนใจไปที่ “ลมหายใจ” และเมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าใจลอยไปคิดเรื่องอดีตหรือกังวลกับอนาคตก็ให้ดึงกลับมาจดจ่อกับลมหายใจใหม่เป็นวงจรตามภาพด้านบน ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ สติก็จะถูกฝึกให้แข็งแกร่งและอยู่กับลมหายใจได้นานขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนา Emotional Intelligence (EQ : ความฉลาดทางอารมณ์) ที่จำเป็นมากในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จนปรับตัวไม่ทัน และต้องการสติในการรับมือกับ ทั้ง Covid 19 ความกดดันด้านเศรษฐกิจและปัญหาจากสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่อาจควบคุมและคาดเดาล่วงหน้าได้ เช่น เหตุการณ์ที่โคราช เป็นต้น
  2. Self-Knowledge and Self - Mastery
    เมื่อมีสติที่แหลมคมขึ้น เราจะเริ่มมองเห็น ตัวตน ความคิดและอารมณ์ของตนเองอย่างชัดเจน “ตามความเป็นจริง” ซึ่งทำให้เราเริ่มรู้จักและยอมรับว่าตัวเอง ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน จนสามารถนำไปพัฒนาตนเองควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และเมื่อเราเข้าใจตนเองดีขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจและรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นจึงทำให้สัมพันธภาพกับผู้ร่วมงานดีขึ้น ทำให้มีความสุขในการทำงาน เมื่อมีความสุขและสมองโปร่งโล่งสบาย จึงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น
  3. Creating Useful Mental Habits
    ฝึกให้ รู้จักการให้ และมีเมตตามากขึ้น กระแสแห่งความเมตตาจะแผ่ขยายจนผู้อื่นรู้สึกได้ จึงเกิดความไว้ใจและความร่วมมือที่ดีในสังคมการทำงาน
            Mr.Meng กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ “ความต่อเนื่อง” และคุณภาพของการฝึกเพียงใช้เวลาเพียงวันละ 1-2 นาที เป็นอย่างน้อย ลองฝึกไปเรื่อย ๆ สัก 100 นาที (แค่วันละ 1 นาที ก็คือประมาณ 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง) คุณจะเห็นผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง จากผลสำรวจพบว่าผู้ที่ผ่านการอบรมและนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะมีสติอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น มีการสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้น เป็นผู้นำที่มีความเมตตา และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
            จะเห็นได้ว่าการเจริญสติหรือทำสมาธิกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาบุคคลากรในหลาย ๆ ด้านที่กล่าวมาโดยไม่จำกัดว่าจะนับถือศาสนาใด และนอกจาก Google แล้วยังมีองค์กรชั้นนำของโลกอีกมากมายที่ใช้การเจริญสติมาช่วยในการพัฒนาบุคคลากรในองค์กร ไม่เว้นแม้แต่เจ้าพ่อทางด้านไอที อย่าง Steve Jobs, Bill Gates ก็ให้ความสำคัญกับการทำสมาธิ เช่นกัน
            ในเมื่อการเจริญสติ มีประโยชน์มากมาย และเราก็ได้เรียนรู้วิธีง่าย ๆ ที่สามารถปฏิบัติด้วยตนเองในเวลาที่สะดวกโดยไม่ต้องไปฝึกแบบ 3 วัน 7 วัน ตามวัดวาอารามที่เราไม่สะดวก เพียงสละเวลาเพื่อตัวเองวันละ 1-2 นาที ทำอย่างถูกวิธีและต่อเนื่องเท่านั้น นักบัญชีอย่างพวกเรา ที่มีความเครียดในการทำงานไม่น้อยกว่าวิศวะกรคอมพิวเตอร์และเป็นที่รู้ (กล่าวหา) กันว่ามักจะมีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กร จะรออะไร มาลองฝึกเจริญสติโดยเริ่มที่ตัวเองก่อน เพียงฝึกให้ครบ 100 นาที ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เมื่อเห็นผลจะได้นำไปใช้กับลูกน้องหรือบุคคลากรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสันติสุขและความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร

โดย..นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี


โพสต์เมื่อ :
7 เม.ย. 2563 11:15:27
 7417
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์