ภาษีบริจาคพรรคการเมือง

ภาษีบริจาคพรรคการเมือง

ก่อนที่จะได้มีการกำหนดให้ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้นั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 324) ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง โดยให้ใช้บังคับสำหรับการแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่ต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้

            การแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ผู้เสียภาษีที่จะอุดหนุนเงินภาษีได้ต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย และเมื่อคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากรตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีแล้วมีภาษีที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีสามารถแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น ทั้งนี้ ไม่เกิน 500 บาท โดยให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังนี้

1. ต้องแสดงเจตนาไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองหรือไม่อุดหนุน ต้องระบุรหัสรายชื่อพรรคการเมืองที่ต้องการอุดหนุน และต้องระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุน หากไม่ระบุความประสงค์หรือไม่ระบุรหัสรายชื่อพรรคการเมืองหรือไม่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุน ให้ถือว่าไม่ได้แสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง แต่หากระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุนเกินกว่าจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระหรือเกินกว่า 500 บาท ให้ถือว่าประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีเพียงจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระนั้น หรือจำนวน 500 บาท แล้วแต่กรณี


2. แสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีได้เพียงหนึ่งพรรคการเมืองและเมื่อได้แสดงเจตนาแล้วจะเปลี่ยนแปลงมิได้ มิฉะนั้น จะถือว่าไม่ประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมืองใด


3. ห้ามมิให้นำเงินภาษีที่ได้แสดงเจตนาอุดหนุนให้แก่พรรคการเมืองไปหักเป็นค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างเป็นผู้เสียภาษี และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีรวมกัน และรวมคำนวณภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิระบุความประสงค์ของตนเองในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี


            การอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมือง ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวนั้น แต่เดิมเรียกว่าการบริจาคภาษีที่ชำระให้พรรคการเมืองถือเป็นสิทธิของผู้มิเงินได้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ที่จะกำหนดว่า ประสงค์ที่จะอุดหนุนเงินภาษีของตัวเองที่เสียไปตามแบบแสดงรายการดังกล่าวนั้นให้แก่พรรคการเมืองใดก็ได้ในวงเงินไม่เกินจำนวนภาษีเงินได้บุคคลดาตามแบบแสดงรายการภาษีของตนเอง แต่สูงสุดไม่เกิน 500 บาท โดยจะต้องแสดงเจตนาผ่านการยื่นภาษีเท่านั้น การอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมืองดังกล่าว ไม่ได้ทำให้มีภาระภาษีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีมากขึ้นและไม่ทำให้ด้รับเงินคืนภาษีน้อยลงแต่อย่างใด
            ในส่วนขอบริจาคเงินแก่พรรคการเมืองนั้น เนื่องจากตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้มีการบัญญัติให้ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2562 กำหนดให้เงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง หรือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 10,000 บาท สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1) (ฏ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้บังคับกับการคำนวณภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
            และในทำนองเดียวกัน สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลได้แก้ไขเพิ่มเติมความใน (3) ของมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 50,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ โดยให้ใช้บังคับกับการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรอบะยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
            กล่าวโดยสรุป นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมามีการเปิดให้ประชาชนผู้เสียภาษี เฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถบริจาคเงินภาษีจำนวน 100 บาท ให้แก่พรรคการเมืองได้ แต่สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้เป็นตามจำนวนภาระภาษีเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ต้องเสียแต่ไม่เกิน 500 บาท
            ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการแก้ไขประมวลรัษฎากรในครั้งนี้ เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้พรรคการเมืองดำรงอยู่เป็นตัวแทนเจตจำนงทางความคิดของประชาชนนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการเสริมสร้างระบบพรรคการเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งซึ่งมาตรการหนึ่งที่จะนำมาใช้ คือ ให้ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน เพื่อให้พรรคการเมืองมีเงินที่จะใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง หรือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
            จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองที่ท่านชื่นชอบได้ตามอัธยาศัย

โดย..นายสุเทพ พงษ์พิทักษ์
กรรมการ ในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร


โพสต์เมื่อ :
28 เม.ย. 2563 15:58:09
 3712
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์