การบัญชีเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการและความสามารถของยุคปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว โดยต้องอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชีอยู่เสมอ ดังนั้นนักบัญชีต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับทุก ๆ ฝ่ายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต เป็นต้น เน้นการทำงานเป็นทีม วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องทันเวลามีความเข้าใจในหลักการบัญชีเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังต้องมีความคิดแบบนักธุรกิจนักบัญชีจึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการตัดสินใจขององค์กร สามารถใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชี ในการรวบรวม จัดเก็บและการประมวลผลรายการทางบัญชีที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินผ่านเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูล เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางการบัญชีในการตัดสินใจของผู้บริหาร
นักบัญชีต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นแบบ Real-time ซึ่งทำให้ได้รับรู้ข้อมูลในมิติที่หลากหลายได้ ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง ทำให้องค์กรได้รับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่อย่างกระจัดกระจายทั้งภายในและภายนอกองค์กร อาจมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์บางอย่างแฝงอยู่ ยังไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลใช้ได้ทันที โดยข้อมูลเหล่านี้มีคุณสมบัติที่เป็น Big Data คือ ปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นในทุกขณะ (Volume) เพราะมีแต่คนสร้างขึ้น แต่ไม่มีการลบออก เช่น องค์กรสามารถรวบรวมข้อมูลการสั่งซื้อในอดีต การควบคุมการบันทึกสต๊อกสินค้าภายใน รวมถึงมีความหลากหลายของประเภทข้อมูล (Variety) เช่น การส่งใบแจ้งเตือนเกี่ยวกับบัญชีที่ชำระหนี้เกินกำหนดไปให้ลูกค้า ข้อมูลที่เป็นข้อความ รูปภาพ อีเมล เสียงและวิดีโอ เป็นต้น ตลอดจนอัตราการเพิ่มของข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว (Velocity) เข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา เช่น การประมวลผลการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แม้แต่องค์กรที่มีรายการสินค้านับล้านชิ้นในโกดัง สามารถจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอยู่รอบโลกได้ และสามารถติดตามการจัดส่งสินค้าได้แบบ Real-time เนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น การเลือกใช้เทคโนโลยีเดิมอาจไม่เพียงพอในการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจขององค์กรได้ ดังนั้นควรเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม
การนำ Big Data มาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างความมั่นคง ให้กับองค์กร ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากหน่วยธุรกิจ ผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของธุรกิจเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ในกระบวนการรายงานขององค์กร การระบุและประเมิน KPI อย่างไรก็ตามองค์กรควรมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เพียงพอเพื่อที่จะช่วยให้องค์กรสามารถแปลงข้อมูลเชิงลึกให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจในการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้สิ่งที่นักบัญชีต้องตระหนักในยุคนี้คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ Big Data ที่มีความชาญฉลาด เริ่มทำให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้เพื่อเข้ามาช่วยจัดการกระบวนการบัญชี รวบรวม ประมวลผล และวิเคราะห์การทำงานแบบอัตโนมัติรวดเร็วมากขึ้น โดยสแกนหรือถ่ายรูปใบเสร็จรับเงิน ระบบจะเปลี่ยนข้อความให้เป็นรหัส จัดให้เป็นรูปแบบบัญชี สามารถบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นได้ทันทีตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลข และสามารถติดตามบัญชีของลูกค้า แม้กระทั่งจัดการสภาพคล่องทางการเงินในองค์กร เมื่อเวลาผ่านไป ระบบ Self-learning ของ AI จะทำงานดีขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยลดภาระของธุรกิจและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการลดอัตราความผิดพลาดในกระบวนการบัญชีขั้นพื้นฐาน เช่นการออกใบแจ้งหนี้ และการยื่นแบบภาษี ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการบัญชี ตลอดจนการวิเคราะห์รายงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่างานที่วิชาชีพบัญชีเคยทำมาดั้งเดิมสามารถแทนที่โดยเครื่องจักร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของวิชาชีพบัญชีและนักบัญชีได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นนักบัญชีควรหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมีความสามารถรอบด้าน ฉลาดคิดวิเคราะห์ แยกแยะ มีความสามารถในการมองภาพรวม รู้ทันสถานการณ์ กลยุทธ์การบริหารธุรกิจ และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นักบัญชีควรปรับทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีสารสนเทศว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามาอำนวยความสะดวกต่อการทำงานเป็นส่วนเสริมให้นักบัญชีได้ปรับตัวเองไปพัฒนาอย่างอื่นแทน โดยไม่ต้องเสียเวลาทำงานประจำเหมือนเดิม และพยายามเรียนรู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด นักบัญชีจึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาท จากที่มองว่าตนเองมีหน้าที่จดบันทึกข้อมูลการเงินวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานทางการเงินที่ผ่านมา แต่นักบัญชียุคดิจิทัลจะต้องปรับความคิดและสร้างบทบาทในฐานะผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินและช่วยวางแผนภาษีอากร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยในการลดต้นทุนทางธุรกิจ ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือวางแผนแนวโน้มการใช้งบประมาณในอนาคตของธุรกิจ วิเคราะห์เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรให้กับผู้บริหารจนกระทั่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบัญชีและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ นักบัญชีจึงจะสามารถอยู่รอดได้ต่อไปไม่ต้องถูกเทคโนโลยีเข้ามาลดบทบาทความสำคัญของลงได้
นักบัญชียุคดิจิทัลควรจะ...
โดย.. ดร.ศรีสุดา อินทมาศ |