นักบัญชีกับการจัดระเบียบชีวิตแบบทำมือ ด้วย Bullet Journal (BUJO)

นักบัญชีกับการจัดระเบียบชีวิตแบบทำมือ ด้วย Bullet Journal (BUJO)

            เชื่อว่านักบัญชีหลายท่านรักการจดบันทึกเป็นชีวิตจิตใจ ชีวิตติดกระดาษ ชื่นชอบวิถีชีวิตแบบอนาล็อกและเบื่อกับสมุดจดบันทึกแบบเดิม ๆ ที่มีพื้นที่ว่างในปฏิทินไม่เพียงพอ การจัดระเบียบชีวิตด้วย “Bullet Journal” ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แถมสร้างสรรค์จินตนาการได้อิสระตามตัวตนที่คุณเป็น สิ่งนี้แตกต่างจากการบันทึกทั่วไปอย่างไร และมีประโยชน์อะไร เตรียมสมุดแล้วลองทำตามไปพร้อมกันได้เลย

Bullet Journal หรือ BUJO คืออะไร
            Bullet Journal ถูกคิดค้นโดย Ryder Carroll นักออกแบบและนักเขียนชาวอเมริกัน เพื่อจัดระเบียบชีวิต การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการพักจากความวุ่นวายในโลกดิจิทัลอีกด้วย เพราะการเขียนจะทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยความหมายของ Bullet Journal ไม่ใช่แค่รูปแบบของสมุดหรือเครื่องมือจดบันทึก แต่มันคือการจัดการกระบวนความคิดผ่านกระดาษ ด้วยการอ้างอิงจาก

สิ่งที่คุณทำ สิ่งที่คุณควรทำและสิ่งที่คุณต้องการจะทำในอนาคต (Mental Inventory)
ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน (Set Goal)
ย้อนกลับมาดูเพื่อตรวจสอบเป็นประจำในทุกวัน (Recap)
จัดความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบให้เข้าที่เข้าทาง (Declutter)
บันทึกกิจกรรมแบบละเอียด (Habit Tracker)


หลักการทำ Bullet Journal
            การทำ Bullet Journal เริ่มต้นไม่ยากและมีความเป็นอิสระ นักบัญชีสามารถสร้างสรรค์ในรูปแบบใดก็ได้ เน้นเขียน เน้นวาด หรือนำภาพมาปะติดลงในสมุดก็สามารถทำได้ทั้งหมด แต่จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน 2 ข้อ คือ Rapid Logging และ Module

       1. Rapid Logging หรือวิธีการจดบันทึกที่ต้องกระชับและเข้าใจง่าย

1) Topics ชื่อหัวข้อ ทุกกิจกรรมที่เราทำจะต้องมีการตั้งหัวข้อไว้เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกและใช้ในการจัดหมวดหมู่
2) Page Number เลขหน้า คุณจะต้องเขียนเลขหน้าไว้และมีการจัดสารบัญในหน้าแรก ๆ
3) Short Sentences ประโยคสั้น ๆ เช่น งานที่ต้องทำ นัดหมาย บันทึกช่วยจำ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นการบันทึกแบบสั้น ๆ

4) Bullets สิ่งนี้เป็นหัวใจของการทำ Bullet Journal คือการแสดงสถานะในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ โดยเราสามารถสร้างสัญลักษณ์ด้วยตัวเองได้ แต่ก็จะมีแนวทางหลักที่คนนิยมใช้ เช่น

          + แทนสิ่งที่ต้องทำ หรือ To do
          X แทนงานที่ทำเสร็จแล้ว ปกติคือเขียนทับตัวข้างบน
          > แทนงานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น
          - แทนการบันทึกทั่วไป (Note)
          ◌ แทน Event หรือกิจกรรมที่ต้องทำ



       2. Module โครงสร้างหรือขอบเขตการบันทึกที่ช่วยจัดระเบียบให้ง่ายขึ้น

1) Index เรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ “สารบัญ” สิ่งนี้จะช่วยให้เราค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เราบันทึกไว้ให้ง่ายขึ้น
2) Future Log การวางแผนล่วงหน้าในระยะยาว โดยส่วนมากมักจะเป็นกิจกรรมพิเศษ เช่น เที่ยวต่างประเทศลาพักร้อน ซึ่งสามารถตีตารางตามความเหมาะสม แต่ก็อย่าลืมเว้นที่ไว้สำหรับการทำ Bullet หรือบันทึกอื่น ๆ ด้วย
3) Monthly Log บันทึกแบบรายเดือน การบันทึกแบบนี้หลายคนจะคุ้นชิน เพราะเราสามารถวาดและเขียนเป็นปฏิทินไว้ได้เลย ส่วนนี้คุณสามารถเขียนกิจกรรมที่ต้องทำต่าง ๆ ในแบบรายเดือนได้เลย และเหมือนกับ Future Log อย่าลืมเว้นที่ไว้สำหรับการทำ Bullet หรือบันทึกอื่น ๆ ด้วย

4) Daily Log / Weekly Log ถ้าคุณเป็นคนละเอียดหรือต้องการในระดับรายวันคุณก็สามารถทำเป็นแบบรายวันหรือรายสัปดาห์ได้เลย โดยเงื่อนไขก็ไม่ต่างกับ Monthly Log



            Bullet Journal ต้องการองค์ประกอบพื้นฐานเพียงเท่านี้ ถ้าคุณต้องการจดบันทึก วาด หรือแปะภาพใด ๆ เพิ่มเติมก็สามารถสร้างได้ตามความต้องการของคุณ เช่น Mood Tracker บันทึกอารมณ์ประจำวัน บันทึก Playlist เพลงที่ชอบ รวมอัลบั้มภาพประทับใจผสานกับการเขียนบันทึกลงไปในภาพ

       “แผนสั้น แผนยาว” เขียนแบบไหนให้ตอบโจทย์
            กิจวัตรประจำวันของนักบัญชีแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนเน้นวางแผนระยะสั้น บางคนก็เน้นวางแผนระยะยาว Bullet Journal เปิดช่องว่างให้กับคนที่ชอบบันทึกทั้งสองรูปแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์กับชีวิตประจำวันของตัวเองมากที่สุด

แผนระยะยาว เน้นการบันทึกด้วยโครงสร้างแบบ Future Log หรือ MonthlyLog เพราะจะทำให้นักบัญชีนั้นมองเห็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว และทางที่ดีคุณควรบันทึกในโครงสร้างนี้ด้วย Bullet ที่เป็น Goals หรือเป้าหมายในสิ่งที่คุณต้องการ มากกว่าเป็นการบันทึกกิจกรรมแบบ Tracking ก็จะตอบโจทย์กับแผนระยะยาวมากกว่า
แผนระยะสั้น เน้นการบันทึกด้วยโครงสร้างแบบ Daily Log หรือ Weekly Log เพื่อให้เห็นภาพแบบชัดเจนยิ่งขึ้นในรายวันหรือรายสัปดาห์ และเพิ่มบันทึกช่วยจำ (Reminder) เป็นตัวช่วยในการบันทึก หรือจะบันทึกแบบ Tracking ที่เน้นการบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ แบบละเอียด เช่น Mood Tracker, Habit Tracker ก็จะตอบโจทย์แผนระยะสั้นมากกว่า


       ประโยชน์ของการทำ Bullet Journal

            การทำ Bullet Journal มีประโยชน์ในหลาย ๆ ส่วน ตั้งแต่ ช่วยในการจัดการงานช่วยบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ฝึกฝนการจัดระเบียบทางความคิด เพิ่มทักษะการออกแบบศิลปะ ช่วยให้เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่ต้องทำในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน เพราะการเขียนต้องใช้สมาธิ มีเวลามากพอที่จะไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ
            เมื่อได้รู้จักกับ Bullet Journal กันแล้ว นักบัญชีทุกท่านลองสำรวจตัวเองกันดูว่า เราสามารถจัดระเบียบชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ายังยุ่งยากซับซ้อน งานหรือเป้าหมายยังกระจัดกระจาย และคุณต้องการจัดระเบียบมัน ลองทำให้ง่ายขึ้นด้วยการทำ Bullet Journal



ที่มา : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/bullet-journal.html
เรียบเรียงโดย : ส่วนสื่อสารองค์กร

โพสต์เมื่อ :
1 ก.ย. 2563 11:21:11
 4651
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์