แผนการดำเนินงาน (Action Plan) ใน 5 ปีข้างหน้าของ IASB และความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกอาเซียน

แผนการดำเนินงาน (Action Plan) ใน 5 ปีข้างหน้าของ IASB และความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกอาเซียน


สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน…

            หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสภาวิชาชีพบัญชี นอกจากการกำหนด ส่งเสริม และให้องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีแล้ว ยังรวมถึงการยกระดับวิชาชีพบัญชีไทยให้มีความเข้มแข็งและการสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานวิชาชีพบัญชีในอาเซียน โดยสภาวิชาชีพบัญชีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักบัญชีแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Federation of Accountants (AFA) ซึ่งมีภารกิจเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิชาชีพบัญชีของประเทศสมาชิกอาเซียน

            ในฐานะที่ผู้เขียนได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานชุดที่ 1 ของ AFA ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานบัญชีและมาตรฐานสากลมาใช้ จึงขอถือโอกาสนี้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ดังกล่าว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่มากก็น้อย
IFRS และ TFRS เกี่ยวข้องกันอย่างไร
            “มาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย” หรือ Thai Financial Reporting Standards (TFRS) หรือคำที่นักบัญชีเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “มาตรฐานบัญชี” นั้น ได้รับการแปลมาจาก “มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ” หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) ซึ่งกำหนดโดย “คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ” หรือ International Financial Reporting Standards Board (IASB)
           
            ทั้งนี้ TFRS ที่กิจการใช้ในการจัดทำงบการเงินในประเทศไทยนี้ ถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง และต้องได้รับการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้น TFRS จึงถือเป็นข้อกำหนดที่สำคัญต่อการจัดงบการเงินของกิจการในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กิจการผู้จัดทำงบการเงินและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสามารถมีส่วนร่วมกับ IASB ได้อย่างไร
            กิจการผู้จัดทำงบการเงินและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสามารถให้เสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำงบการเงินตามข้อกำหนดของมาตรฐานบัญชีสากล หรือ IFRS ผ่านทางการสื่อสารไปยัง IASB ได้
 
            โดย IASB จะเผยแพร่ความคืบหน้า หลักการและเหตุผล ตลอดจนรายละเอียดของ (ร่าง) IFRS ฉบับใหม่ ตลอดจนความคืบหน้า หลักการและเหตุผล ในการปรับปรุง (ร่าง) IFRS ฉบับเดิม ให้สะท้อนต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ง่ายต่อการตีความและนำไปปฏิบัติใช้อยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านทางเว็บไซต์ของ IASB ที่ https://bit.ly/2Xepn8N

แผนการดำเนินงาน (Action Plan) ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าของ IASB
            ในโอกาสที่ IASB อยู่ระหว่างการกำหนดแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปี ค.ศ. 2022 – 2026) IASB จึงได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน แสดงความเห็นต่อ Action Plan ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดในเอกสาร Request for Information and Comment Letters : Third Agenda Consultation ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ IASB ที่ https://bit.ly/3AstDiX



ความร่วมมือระหว่าง IASB และ AFA
            IASB และสหพันธ์นักบัญชีแห่งอาเซียน (AFA) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา Online ผ่านกิจกรรม Webinar ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 200 คน จาก 19 ประเทศ เพื่อให้ IASB นำเสนอข้อมูลใน Third Agenda Consultation Paper ดังกล่าว และเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและหน่วยงานกำหนดมาตรฐานบัญชีจากประเทศสมาชิกอาเซียน

            สำหรับประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชีได้ส่งผู้แทนจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชี ประกอบด้วย นางสาวสมบูรณ์ ศุภศิริภิญโญ และผู้เขียน (นางสาวภาสิน จันทรโมลี) เพื่อเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ Third Agenda Consultation Paper ดังกล่าว โดยกิจกรรม Webinar นี้ ได้เผยแพร่ผ่านทาง Facebook Live ของ AFA ที่ https://bit.ly/3Aefaas

            (ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเข้ารับฟังการเสวนาผ่านทางช่องทางดังกล่าวย้อนหลัง จะสามารถนับเป็นชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) แบบไม่เป็นทางการ ได้จำนวน 2 ชั่วโมง)

สรุปแผนการดำเนินงานใน 5 ปีข้างหน้า (ปี ค.ศ. 2022 – 2026) ของ IASB และความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกอาเซียน แบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 แนวทางในการกำหนดกิจกรรมของ IASB และระดับของความสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ของ IASB ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด IFRS

ความคิดเห็นภาพรวมจากประเทศสมาชิกอาเซียน
  • IASB ควรลดการให้ความสำคัญกับการกำหนดและเผยแพร่ IFRS ฉบับใหม่ๆ และควรให้กับความสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมและสนับสนุนการนำ IFRS ฉบับที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้เกิดการนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอและแพร่หลาย
  • IASB ควรเพิ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและการเข้าถึง IFRS มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำเอกสารเผยแพร่สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง IASB ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมและการเข้ามาทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในระดับภูมิภาค เช่น ภูมิภาคอาเซียน สามารถเข้าถึง IFRS และมีความเข้าใจ IFRS มากยิ่งขึ้น


ประเด็นที่ 2 เงื่อนไขที่ IASB จะใช้ในการพิจารณาว่าเรื่องใดที่ IASB ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อปรับปรุงแผนงานให้สามารถแก้ไขปัญหาจากการนำ IFRS มาใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ความคิดเห็นภาพรวมจากประเทศสมาชิกอาเซียน

  • เงื่อนไขที่ IASB กำหนดนั้นเหมาะสมและมีความสมเหตุสมผลแล้ว ยกตัวอย่างเงื่อนไข เช่น
    (1) ความคลาดเคลื่อนในการนำเสนอรายการหรือกิจกรรมของกิจการในงบการเงิน
    (2) ความสำคัญของประเด็นนั้นๆ ที่มีต่อนักลงทุน และ
    (3) ความสามารถของ IASB และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดให้มีโครงการที่สำคัญในการแก้ไขและปรับปรุง IFRS อย่างทันท่วงที เป็นต้น
  • อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอแนะให้ IASB ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงที่มาและน้ำหนักของเงื่อนไขในข้อต่างๆ ข้างต้น เพื่อความโปร่งใสและชัดเจนกับผู้นำ IFRS ไปใช้ และขอให้ IASB พิจารณาเพิ่มเติมถึงอายุและความเป็นปัจจุบันของ IFRS ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


ประเด็นที่ 3 เรื่องสำคัญใหม่ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวกับการรายงานทางการเงิน ซึ่ง IASB ควรเพิ่มเข้ามาในแผนการดำเนินงาน

ความคิดเห็นภาพรวมจากประเทศสมาชิกอาเซียน

  • ตัวอย่างของเรื่องสำคัญที่ IASB ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่
    (1) สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangibles)
    (2) การรวมธุรกิจภายใต้การควบคุมเดียวกัน (Business Combination under Common Control: BUCC)
    (3) สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
    (4) งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flows)
    (5) สัญญาประกันภัย (Insurance Contracts)
    (6) ภาวะโลกร้อน (Climate Changes)
    (7) ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Transactions)
            ท้ายสุดนี้ IASB จะเปิดรับความเห็นถึงวันที่ 27 กันยายน 2564 ดังนั้นจึงยังไม่สายเกินไปที่ท่านผู้อ่านจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความเห็นต่อแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ของ IASB ได้ที่ เว็บไซต์ของ IASB https://bit.ly/3AstDiX เพื่อให้กิจการและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมี IFRS ที่สะท้อนต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ง่ายต่อการตีความและสามารถนำมาใช้ได้จริงในการจัดทำงบการเงินโดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนและความพยายามที่สูงเกินไป

เขียนโดย นางสาวภาสิน จันทรโมลี
ประธานคณะทำงานชุดที่ 1 แห่งสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน (AFA) คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชี และคณะอนุกรรมการด้านงานต่างประเทศ สภาวิชาชีพบัญชี

  • อ่านในรูปแบบไฟล์ PDF Click
โพสต์เมื่อ :
11 ส.ค. 2564 16:05:21
 3301
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์