มติคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ครั้งที่ 66 (3/2564) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564

มติคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ครั้งที่ 66 (3/2564) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564

           

            สภาวิชาชีพบัญชี ขออัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินซึ่งขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 34 วรรคสาม โดยมติคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ครั้งที่ 66 (3/2564) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานการรายงานทางการเงิน 2 ฉบับ (ร่าง) แนวปฏิบัติทางการบัญชี 1 ฉบับ รวมถึงยกเลิกแนวปฏิบัติทางการบัญชี 6 ฉบับ ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีได้นำส่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินและแนวปฏิบัติทางการบัญชีดังกล่าวเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไปแล้ว โดยสรุปดังนี้
     1. (ร่าง) มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก เป็นการเพิ่มเติมและปรับปรุงข้อกําหนดให้สอดคล้อง กับข้อยกเว้นที่กำหนดหรือข้อยกเว้นที่อาจเลือกปฏิบัติในเรื่องเครื่องมือทางการเงินสำหรับกิจการที่นำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก โดย มาตรฐานฯ ฉบับนี้ได้มีข้อยกเว้นที่กําหนดหรือมีข้อยกเว้นที่อาจเลือกปฏิบัติในเรื่องเครื่องมือทางการเงินที่สามารถใช้ “วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป” ได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565
     2. (ร่าง) มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 6 เรื่อง การสำรวจและการประเมินค่าแหล่งทรัพยากรแร่ ปรับแก้ไขถ้อยคําการแปลเท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานฯ ฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 ดังนี้

คำศัพท์ คำแปลเดิม คำแปลใหม่
Expenditure ค่าใช้จ่าย รายจ่าย
exploration and evaluation assets สินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและการประเมินค่า สินทรัพย์จากการสำรวจและการประเมินค่า
cash generating unit หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสด หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด


     3. (ร่าง) แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019
            เนื่องด้วย ธปท. ได้ออกมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรค โควิด-19 ซึ่งมีมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสําหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น คณะกรรมการกําหนดมาตรฐานการบัญชีจึงได้กําหนดแนวปฏิบัติทางการบัญชีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และ

            1. เป็นทางเลือกกับทุกกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน หรือมาตรการ อื่นตามที่ ธปท. กําหนดเพิ่มเติม รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ธุรกิจสินเชื่อส่วน บุคคลภายใต้การกํากับ และ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ธปท. (ธุรกิจลิสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจแฟคตอริ่ง)
            2. การจัดชั้นและการกันเงินสํารองสําหรับลูกหนี้ที่เข้าตามลักษณะ ครอบคลุมถึงลูกหนี้ทุกประเภท คือ ลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกหนี้รายย่อย

มาตรการการผ่อนปรนชั่วคราวตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี สรุปได้ดังนี้

1. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยกําหนดเงื่อนไขในการช่วยลดภาระจ่ายชําระหนี้มากกว่าการขยาย ระยะเวลาการชําระหนี้อย่างเดียว

  • ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non-NPL) : จัดเป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (performing หรือ stage 1) ได้ทันที หากพิจารณาว่าจ่ายชําระได้
  • ลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพ (NPL) : จัดเป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (performing หรือ stage 1) ได้ หากจ่ายได้ติดต่อกัน 3 เดือน/งวด
  • การให้สินเชื่อเพิ่มเติม (new money) : จัดเป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (performing หรือ stage 1) ได้ทันที หากพิจารณาว่าจ่ายชําระได้
  • การพิจารณาเปลี่ยนชั้นเป็นชั้นที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (underperforming หรือ stage 2 พิจารณาจัดชั้นจากจํานวนวันค้างเกินกว่า 30 วัน/ 1 เดือน
  • เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ ทําให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) เดิมไม่สะท้อนประมาณการกระแสเงินสด สามารถใช้ EIR ใหม่ เป็นอัตราคิดลดได้

2. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายระยะเวลาเพียงอย่างเดียว

  • จัดชั้นและกันเงินสํารองตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินกําหนด
  • การพิจารณาเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น stage 2 ใช้แนวทางการพิจารณา SICR ของ ธปท. ได้

3. ไม่ต้องคํานวณผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สําหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (unused credit line)
4. ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่ไม่สามารถเสร็จได้ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค. 64 สามารถคงการจัดชั้นให้กับลูกหนี้ได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 65 หรือจนกว่า ธปท. จะเปลี่ยนแปลง
5. เปิดเผยข้อมูลในการเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว รวมถึงแนวปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและผลต่อการวัดมูลค่า ECL และยังต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ทุกฉบับ

วันถือปฏิบัติของแนวปฏิบัติทางการบัญชี :
     1. ใช้สําหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2566 หรือ จนกว่า ธปท.เปลี่ยนแปลง
     2. กรณีที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามเงื่อนไขที่กําหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564 จะ สามารถนําหลักการจัดชั้นและการกันเงินสํารองตามแนวปฏิบัติฉบับนี้มาถือปฏิบัติกับลูกหนี้รายดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2566

4. ยกเลิกแนวปฏิบัติทางการบัญชี 6 ฉบับ

แนวปฏิบัติทางการบัญชีที่ยกเลิก มาตรฐานที่ใช้แทน
แนวปฏิบัติทางการบัญชีการวัดมูลค่าและรับรู้รายการของพืชเพื่อการให้ผลผลิต มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม
แนวปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับการบันทึกบัญชีสำหรับสินทรัพย์ประเภทอาคารชุด มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
แนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลสำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 20 เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
แนวปฏิบัติทางการบัญชีการบันทึกบัญชีเมื่อมีการตีราคาใหม่ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
แนวปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับการบันทึกบัญชีหุ้นปันผล (STOCK DIVIDEND มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน
แนวปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับการบันทึกบัญชีสิทธิการเช่า มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า

            ทั้งนี้ สามารถศึกษาสรุปสาระสำคัญของการปรับปรุงมาตรฐานฯ และแนวปฏิบัติทางการบัญชีฯ ดังกล่าวได้จากเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี Click


โพสต์เมื่อ :
7 ธ.ค. 2564 17:10:21
 4068
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์