สรุปสาระสำคัญจากการประชุม IFAC Council Meeting โดย ส่วนงานต่างประเทศสภาวิชาชีพบัญชี

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม IFAC Council Meeting โดย ส่วนงานต่างประเทศสภาวิชาชีพบัญชี

            เมื่อวันที่ 10 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 18.00 น. - 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย สหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ (International Federation of Accountants - IFAC) ได้จัดการประชุมแบบเสมือนจริง IFAC Council Meeting 2021 ซึ่งนับเป็นการจัดประชุมเสมือนจริง ครั้งที่ 2 ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
            สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะสมาชิกของ IFAC ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมีนางสาวชวนา วิวัฒน์พนชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี และดร.ฐาน์รตี มุขดี นักวิชาการด้านต่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้


            ภายในการประชุมประกอบไปด้วยผู้แทนเข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 240 คน จากประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก


           
            ในช่วงเริ่มต้นการประชุม นายอลัน จอห์นสัน ประธาน IFAC กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า ในปี 2564 เป็นอีกปีที่ IFAC ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการรณรงค์เรื่องการจัดทำรายงานเพื่อความยั่งยืน และการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (International Sustainability Standards Board – ISSB) ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ IFAC รู้สึกภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมและรณรงค์เรื่องดังกล่าว เนื่องจากความต้องการของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียนั้นเปลี่ยนไป นอกจากนั้น นายอลัน ในฐานะอดีต CFO ของบริษัทชั้นนำของโลก กล่าวว่า IFAC ยังคงทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพแต่ละประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านบัญชีและเตรียมพร้อมนักบัญชีในอนาคต


           
            ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของ IFAC เรื่องผลกระทบของโควิด19 ที่มีต่อขอบเขตการให้บริการของสำนักงานบัญชี /สำนักงานสอบบัญชีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMPs) พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สำนักงานบัญชี /สำนักงานสอบบัญชีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMPs) ยังเป็นหน่วยงานสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง SMPs และ SMEs จะเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดย IFAC จะให้การสนับสนุนองค์กรวิชาชีพที่เป็นสมาชิกในการพัฒนาสำนักงานบัญชี /สำนักงานสอบบัญชีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMPs) ต่อไป
            สำหรับเรื่องการบัญชีภาครัฐ IFAC และ Chartered Institute of Public Finance and Accountancy (CIPFA) ได้ทำการสำรวจ การบัญชีภาครัฐของรัฐบาลจาก 165 ประเทศทั่วโลก พบว่า มีแนวโน้มเชิงบวกในการรับเอามาตรฐานการบัญชีภาครัฐระหว่างประเทศมาใช้ในปี 2020 โดยร้อยละ 30 ใช้เกณฑ์คงค้างในการบันทึกบัญชีของภาครัฐ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี 2025 สถิติการใช้เกณฑ์คงค้างจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50
            สำหรับคณะกรรมการมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ (The International Auditing and Assurance Standards Board - IAASB) ได้จัดทำคู่มือ Guidance on audit matters ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงคุณภาพในการตรวจสอบและร่างมาตรฐานการสอบบัญชีสำหรับ Less Complex Entities (LCEs)
            คณะกรรมการมาตรฐานจรรยาบรรณระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (The International Ethics Standards Board for Accountants - IESBA) ได้ประกาศใช้คู่มือประมวลจรรยาบรรณ ฉบับปี 2021 และเปิดตัว E-Code 2.0 คู่มือประมวลจรรยาบรรณบนเว็บไซต์ https://eis.international-standards.org/ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและใช้งานง่าย
            ด้านนายเควิน ดานซีย์ ผู้บริหารสูงสุดของ IFAC กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของ IFAC ในรอบปีที่ผ่านมาโดยมุ่งเน้นโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้


  1. การคุ้มครองป้องกันวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นวิชาชีพอันทรงคุณค่าและสามารถปรับตัวกับภาวะวิกฤติได้
  2. การรักษาคุณภาพและความซื่อสัตย์
  3. การรักษาคุณภาพและความซื่อสัตย์
  4. การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล
  5. การส่งเสริมความโปร่งใส ความรู้ และความรับผิดชอบของภาครัฐทั่วโลก


           
            ตัวอย่างของกิจกรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วย การสื่อสารผ่านจดหมายข่าวและเว็บไซต์ การจัดเสวนา การอบรมออนไลน์ การประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับองค์กรอื่น และการเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับแผนกลยุทธ์ของ IFAC (รับชมตัวอย่างวิดีโอกิจกรรม คลิก
            นอกจากนั้น IFAC ยังร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการศึกษาและจัดทำสำรวจสถานะการให้ความเชื่อมั่นและด้านความยั่งยืนระหว่างประเทศ จากบริษัทที่มี Market Capitalisation รวม 1,400 แห่ง ใน 22 ประเทศ สำรวจขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 การศึกษาครั้งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าใจวิธีปฏิบัติของตลาดโลกในปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลอย่างยั่งยืน (ESG and Sustainability) ผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้


           
            อีกหนึ่งพันธกิจหลักของ IFAC ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นผู้นำในเรื่องการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน และการให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นด้านความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดำเนินภารกิจส่งเสริมการนำมาตรฐานระหว่างประเทศไปปฏิบัติ การประสานงานและปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรระดับโลกอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพบัญชี และการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล
            ในช่วงที่สองของการประชุมในวันแรก ได้จัดให้มีการแต่งตั้งสมาชิก IFAC Board โดยได้เสนอชื่อทั้งสมาชิกใหม่ และสมาชิกเดิม รวมไปถึงการเสนอแผนกลยุทธ์ของ IFAC และการรับรองรายงานการประชุมครั้งก่อน (พ.ศ. 2563) ตลอดจนการอนุมัติสมาชิกใหม่ เช่น สมาคมนักบัญชีอินเดีย โดยคุณชวนาผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชีได้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงออนไลน์ในครั้งนี้


           
            ในการอนุมัติเสนอชื่อแต่งตั้งสมาชิก IFAC Board ดังกล่าว ส่งผลให้คณะกรรมการชุดใหม่ ประกอบไปด้วย สมาชิกเพศชาย 10 คน และสมาชิกเพศหญิง 13 คน (เกินกึ่งหนึ่ง) ซึ่งนับเป็นความภูมิใจของ IFAC ในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG17) ของสหประชาชาติ


           
            หลังการลงคะแนนของสมาชิก นายทอม ซีเดนสเตน ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ, นายสตัฟวโรส โธมาดาคิส ประธานคณะกรรมการด้านมาตรฐานจรรยาบรรณระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และนายเอียน คาร์รุธเทอร์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชี ภาครัฐระหว่างประเทศ ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน 



           
            ในวันที่สองของการประชุม (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564) IFAC ได้เชิญผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก The Global Fund และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสาธารณรัฐรวันดา มาร่วมนำเสนอกรณีศึกษาและประสบการณ์ในการบริหารจัดการภายใต้ภาวะโรคระบาด และการรับมือกับ Disruption รวมถึงวิวัฒนาการ การเปลี่ยนผ่านการด้านกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ ESG Reporting จากผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส




           
            นอกจากนี้ นายอลัน จอห์นสัน ประธาน IFAC ได้ร่วมเสวนากับวิทยากรพิเศษจิลเลี่ยน เทตต์ นักเขียนชื่อดัง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่อง “บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีกับการมีส่วนร่วมรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน และมาตรฐานระหว่างประเทศการบัญชีด้านความยั่งยืน” โดยทั้งสองกล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและองค์กรวิชาชีพในแต่ละประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วทุกภูมิภาคของโลกเห็นความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทั้งผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีเป็นผู้นำในการบันทึก สอบทานและให้ความเชื่อมั่นกับข้อมูลด้านนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ นายอลันได้เน้นย้ำถ้อยคำที่ผู้บริหารชื่อดังของโลกได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คือ “นักบัญชีสามารถปกป้องโลกได้”

           
            สุดท้ายนี้ การประชุม IFAC Council 2021 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีและจบลงอย่างสวยงาม ผู้ร่วมประชุมได้กล่าวขอบคุณและโบกมือลาด้วยความมุ่งหวังเช่นเดิมว่าในปีหน้าเราจะสามารถมาประชุมกันแบบพบปะ (Face-to-face) เหมือนเดิมตามที่ตั้งใจไว้

โพสต์เมื่อ :
7 ธ.ค. 2564 16:20:01
 2160
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์