เปิดใจ! สภาวิชาชีพบัญชี กรณีบริษัท STARK กับความเชื่อมั่นในบทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

เปิดใจ! สภาวิชาชีพบัญชี กรณีบริษัท STARK กับความเชื่อมั่นในบทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี










          เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สภาวิชาชีพบัญชี) นำโดยนายวินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชี พร้อมคณะกรรมการ จัดงานแถลงข่าวเปิดใจ สภาวิชาชีพบัญชี กรณีบริษัท STARK กับความเชื่อมั่นในบทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ณ อาคารศูนย์อบรมสัมมนาศาสตรจารย์ เกียรติคุณ เกษรี ณรงค์เดช อาคารสภาวิชาชีพบัญชี

          ตามที่ปรากฏผลการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชีและกรรมการคณะใหม่ของสภาวิชาชีพบัญชี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 นายวินิจ ศิลามงคล ในฐานะนายกสภาวิชาชีพบัญชีมีความเป็นกังวลต่อคำถามเกี่ยวกับกรณีบริษัท STARK ที่เข้ามาเป็นอันมาก สภาวิชาชีพบัญชีในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อสาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

          นายวินิจ ศิลามงคล กล่าวว่า “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไปเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี ในขณะที่ผู้ทำบัญชีเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชีและกระทรวงพาณิชย์ สำหรับอดีตประธานเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงินของ STARK นั้น ไม่ได้เป็นผู้ทำบัญชีที่ลงทะเบียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และสภาวิชาชีพบัญชี แต่อยู่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในขณะนั้น

          การดำเนินการสืบสวนและลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น ดำเนินการโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระจากคณะกรรมการของสภาวิชาชีพบัญชี โดยมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบโดยอิสระ หากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยสามารถตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียน และพิจารณาโทษต่อผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยอิสระ

          ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องสังกัดสำนักงานที่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้ความเห็นชอบ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น ผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตรวจสอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชี

          ต่อกรณี STARK คณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของผู้สอบบัญชีแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ก.ล.ต. ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีจะได้เร่งรัดสอบสวนเรื่องดังกล่าว”

          นายกสภาวิชาชีพบัญชี กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิชาชีพบัญชีมีบทบาทหน้าที่และความรับชอบในการส่งเสริมสนับสนุน ครอบคลุมการกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพบัญชี อาทิ มาตรฐานการสอบบัญชี มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นมาตรฐานและแนวทางการทำงานที่กำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีได้กำหนดมาตรฐานและมาตรการด้านการควบคุมคุณภาพงานของผู้สอบบัญชีและสำนักงานที่ผู้สอบบัญชีสังกัดขึ้นอีกชั้นหนึ่งด้วย ดังนั้น คุณภาพ (Quality) ความไว้วางใจ (Trust) ความซื่อสัตย์ (Intrigity) ความโปร่งใส (Transparency) และความเป็นอิสระ (Independence) จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพและสภาวิชาชีพบัญชียึดถือเสมอมา

          สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นกรณี STARK ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุน อาจตั้งเป็นข้อสังเกตที่สำคัญเพื่อการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดังนี้

         1.) การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจของบริษัทที่จะลงทุน ตลอดรวมโครงสร้างของกลุ่มบริษัททั้งในและต่างประเทศ

         2.) เข้าใจพื้นฐานและที่มา รวมถึงประวัติของผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และที่ปรึกษา

         3.) ทิศทางและความชัดเจนของการลงทุน และการใช้เงินจากการระดมทุนในแต่ละครั้ง

         4.) ความเข้าใจในรายละเอียดของหนังสือชี้ชวนการลงทุน ได้แก่ งบการเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น

         5.) พื้นฐานของสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการและผู้ถือหุ้น

         ประเด็นสำคัญข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องใส่ใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

         ทั้งนี้ นโยบายและการดำเนินการของสภาวิชาชีพบัญชีในเชิงป้องกันและติดตาม มีดังนี้

         1.) ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยกำกับดูแล เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์เพื่อเสริมแนวปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพให้ยึดมาตรฐานการทำงานและจรรยาบรรณมากขึ้น

         2.) เผยแพร่รูปแบบและวิธีการปฏิบัติงานเพื่อคุณค่างานที่สูง มีคุณภาพและจรรยาบรรณที่ดี

         3.) เน้นย้ำความสำคัญของคุณภาพงานและการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนด ให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้ตระหนักอย่างต่อเนื่อง

         4.) สื่อสารอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและผู้บริหารที่ต้องให้ความสำคัญต่อคุณค่างานสอบบัญชีและผลตอบแทนที่เป็นธรรม

         5.) มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสำนักงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพ

         6.) ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อเปิดทางให้สภาวิชาชีพบัญชีสามารถกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและติดตามให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

           ทั้งนี้ ท่านสามารถรับชมแถลงข่าว เปิดใจ! สภาวิชาชีพบัญชี กรณีบริษัท STARK กับความเชื่อมั่นในบทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ได้ที่ https://fb.me/e/1lU0FzFZZ

โพสต์เมื่อ :
1 ก.ย. 2566 19:28:57
 3319
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์