สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และแนวปฏิบัติทางการบัญชี

สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และแนวปฏิบัติทางการบัญชี

สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
และแนวปฏิบัติทางการบัญชี รวมจำนวน 16 ฉบับ

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 1: Presentation of Financial Statements (Bound volume 2016 Consolidated without early application))
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 10 31 54 ถึง 55 82ก 85 113 ถึง 114 117 119 และ 122 และเพิ่มย่อหน้าที่ 30ก 55ก และ 85ก ถึง 85ข และตัดย่อหน้าที่ 115 และ 120 และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง

เป็นการอธิบายหลักการของการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยกำหนดหลักการเปิดเผยข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจน (ย่อหน้าที่ 113 และ 114) คือ แสดงหมายเหตุประกอบงบการเงินในลักษณะที่เป็นระบบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทางปฏิบัติ โดยพิจารณาผลกระทบต่อความเข้าใจได้และการเปรียบเทียบได้ของงบการเงิน ซึ่งตัวอย่างการเรียงลำดับอย่างเป็นระบบหรือการจัดกลุ่มของหมายเหตุประกอบงบการเงิน รวมถึง การจัดกลุ่มข้อมูลกิจกรรมดำเนินงานบางกิจกรรมเข้าด้วยกัน หรือ การจัดกลุ่มข้อมูลเกี่ยวกับรายการที่วัดมูลค่าคล้ายคลึงกันเข้าด้วยกัน เช่น สินทรัพย์ที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม  หรือ การจัดลำดับตามลำดับการแสดงรายการในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จและงบแสดงฐานะการเงิน 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 16: Property, Plant and Equipment (Bound volume 2016 Consolidated without early application)) มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยมีการแก้ไขที่ไม่อนุญาตให้ใช้วิธีคิดค่าเสื่อมราคาโดยอิงจากรายได้ และได้แก้ไขขอบเขตของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ให้รวมถึงพืชเพื่อการให้ผลิตผลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งมีการปรับปรุงย่อหน้าที่ 6 22ก 37.9 และ 56.3 และเพิ่มย่อหน้าที่ 62ก 80ข ถึง 80ค 81ฌ ถึง 81ฎ และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง

• ไม่อนุญาตให้ใช้วิธีคิดค่าเสื่อมราคาโดยอิงจากรายได้ 
• แก้ไขขอบเขตของมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2559) ให้รวมถึงพืชที่ให้ผลิตผลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเกษตร

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 19 : Employee Benefits (Bound volume 2016 Consolidated without early application)) มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 83 และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น 

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
ปรับปรุงการใช้อัตราคิดลดสำหรับการประมาณผลประโยชน์หลังออกจากงาน จากเดิมที่พิจารณาจากประเทศที่หุ้นกู้ภาคเอกชนมีการซื้อขายในตลาดน้อย เป็นพิจารณาที่สกุลเงินของหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีการซื้อขายในตลาดน้อยวันถือปฏิบัติ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 27 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 27 เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 27 : Separate Financial Statements (Bound volume 2016 Consolidated without early application)) มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 4 ถึง 7 10 11ข และ 12 และการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น การปรับปรุงเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินภายใต้วิธีส่วนได้เสียในงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยการปรับปรุงดังกล่าวอนุญาตให้กิจการสามารถเลือกใช้วิธีส่วนได้เสียในการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อย การร่วมค้าและเงินลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการ

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
ให้ทางเลือกเพิ่มเติมบนงบการเงินเฉพาะกิจการให้ใช้วิธีส่วนได้เสียตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 ได้ (จากเดิมที่ให้ใช้วิธีราคาทุน หรือวิธีมูลค่ายุติธรรมเท่านั้น) โดยให้ปรับปรุงย้อนหลัง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้า

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 28 เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 28 : Investments in Associates and Joint Venture (Bound Volume 2016 Consolidated without early application)) มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยเพิ่มย่อหน้าที่ 36ก 45ก ถึง 45ง และและปรับปรุงบทนำ 8 ย่อหน้าที่ 17 25 27 36 และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง

• อนุญาตเพิ่มเติม (แต่ไม่เป็นการบังคับ) กรณีกิจการที่ไม่ได้เป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนที่มีส่วนได้เสียในบริษัทร่วมหรือการร่วมค้าที่เป็น IE* กิจการดังกล่าวอาจจะใช้วิธีส่วนได้เสียโดยยังคงการวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม(FV) ที่บริษัทร่วมหรือการร่วมค้านั้นๆ ใช้อยู่สำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยของบริษัทร่วมหรือการร่วมค้านั้นๆ (เป็นการกำหนดเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น)

• มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการปรับปรุง TAS 27 เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ ที่ให้ทางเลือกเพิ่มเติมบนงบการเงินเฉพาะกิจการให้ใช้วิธีส่วนได้เสียตาม TAS 28 ได้ โดยให้ปรับปรุงย้อนหลัง

*กิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุน คือ กิจการซึ่งได้รับเงินทุนจากผู้ลงทุนหนึ่งรายหรือมากกว่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีการบริการด้านการบริหารเงินลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน  โดยวัตถุประสงค์หลักคือการนําเงินทุนไปลงทุนเพื่อให้ได้มาเพื่อผลตอบแทนจากการเพิ่มมูลค่าของเงินทุน รายได้จากการลงทุน หรือทั้งสองกรณี และประเมินผลการดําเนินงานจากเงินลงทุนเกือบจะทั้งหมดด้วยเกณฑ์มูลค่ายุติธรรม (ภาคผนวก ก : TFRS10)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 34 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การรายงานทางการเงินระหว่างกาล

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ  ฉบับที่ 34 เรื่อง การรายงานทางการเงินระหว่างกาล ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 34 : Interim Financial Reporting (Bound volume 2016 Consolidated without early application))

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 5 และ 16ก และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
อนุญาตให้การเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ สามารถแสดงไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลหรือที่อื่นในรายงานทางการเงินระหว่างกาลโดยการอ้างอิงจากงบการเงินระหว่างกาล  เช่น การวิเคราะห์ของผู้บริหาร หรือรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยง ซึ่งเผยแพร่ให้กับผู้ใช้งบการเงินพร้อมกับงบการเงินระหว่างกาล

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 38: Intangible assets (Bound volume 2016 Consolidated without early application))    

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 92 98 และ 130ญ และเพิ่มย่อหน้าที่ 98ก ถึง 98ค และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
มีการปรับปรุงในส่วนของการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดย

• ให้มีการสันนนิษฐานว่าการตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนโดยอ้างอิงจากรายได้ ของกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สินไม่มีตัวตนไม่เหมาะสม (บางกรณีอาจเหมาะสม เช่น การให้สัมปทานการขุดแร่โดยไม่ได้ระบุอายุแต่กำหนดโดยระบุยอดขายที่กำหนดไว้)

• การพิจารณาเลือกวิธีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนให้พิจารณาจากปัจจัยที่มีอำนาจเหนือกว่าที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น (เช่น สัญญาทีให้ใช้สิทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนด)

• การปรับปรุงดังกล่าวโดยใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง เกษตรกรรม

มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IAS 41 : Agriculture (Bound volume 2016 Consolidated without early application))  มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงบทนำ 1 ย่อหน้าที่ 1 ถึง 5 8 24 และ 44 และเพิ่มย่อหน้าที่ 5ก ถึง 5ค และ 63 และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง

• พืชเพื่อการให้ผลิตผล (Bearer plant) ให้ถือเป็นรายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (เมื่อมีการประกาศใช้)

• เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพืชเพื่อการให้ผลิตผล (Bearer plant) ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 20 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล (เมื่อมีการประกาศใช้)

• ผลิตผลที่เจริญเติบโตจากพืชเพื่อการให้ผลิตผล ให้ถือเป็นสินทรัพย์ชีวภาพ (Biological assets)

การเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางบัญชีสำหรับการวัดมูลค่าและรับรู้รายการของพืชเพื่อการให้ผลิตผลซึ่งได้มีการออกประกาศเมื่อปี 2558 ดังนั้นจึงไม่ส่งผลอย่างมีสาระสำคัญต่อการรายงานทางการเงินในเรื่องเกษตรกรรม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 และมีผลทำให้ต้องยกเลิกแนวปฏิบัติทางบัญชีฯ ดังกล่าวเมื่อร่างมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 41 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง เกษตรกรรม มีผลบังคับใช้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 5 (ปรับปรุง 2559)  เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก  

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 5 เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IFRS 5 : Non-current Assets Held for Sale and Discontinued Operations (Bound volume 2016 Consolidated without early application))

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุง

ย่อหน้าที่ 26 เพิ่มย่อหน้าที่ 26ก และ 44ฏ และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
มีการปรับปรุงย่อหน้าที่ 26 เพิ่มย่อหน้าที่ 26ก โดยอธิบายเพิ่มเติมกรณีเปลี่ยนแปลงแผนการขายหรือแผนการจ่ายให้แก่ผู้เป็นเจ้าของให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของทุกกิจการ เนื่องจากเป็นการอธิบายเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นกรณีที่มักไม่เกิดขึ้นบ่อย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 10 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง งบการเงินรวม

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กําหนดขึ้นโดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 10 เรื่อง งบการเงินรวม ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IFRS 10 : Consolidated Financial Statements (Bound volume 2016))

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุง

ย่อหน้าที่ 4 32 ภาคผนวก ข85ค ข85จ และ ค2ก และเพิ่มย่อหน้าที่ 4ก ถึง 4ข และภาคผนวก ค1ง และตัดย่อหน้าที่ 4.2 และ 4.3 และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
ได้มีการปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับข้อยกเว้นในการจัดทำงบการเงินรวม ในกรณีที่บริษัทย่อยของกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุน ซึ่งบริษัทย่อยดังกล่าวให้บริการหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน บริษัทใหญ่จะต้อง

1) กรณีที่บริษัทย่อยมิได้เป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุน ให้รวมบริษัทย่อยดังกล่าวในการจัดทำงบการเงินรวม(หลักเดิม) 

2) กรณีที่บริษัทย่อยเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุน(IE) ให้วัดมูลค่าบริษัทย่อยดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (เพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องรวมบริษัทย่อยในการจัดทำงบการเงินรวม) 

กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงดังกล่าว ให้ใช้วิธีปรับย้อนหลัง

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 11 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การร่วมการงาน

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 11 เรื่อง การร่วมการงาน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (IFRS 11 : Joint Arrangements (Bound volume 2016 Consolidated without early application)) มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยเพิ่มบทนำ 4ก 9ก ย่อหน้าที่ 21ก ข33ก ถึง ข33ง ค1กก และ ค14ก และปรับปรุงการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
การซื้อส่วนได้เสียในการดำเนินงานร่วมกัน (Joint operation) มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

- ถ้าการซื้อส่วนได้เสียในการดำเนินงานร่วมกันที่กิจกรรมของการดำเนินงานร่วมกันนั้นประกอบกันขึ้นเป็นธุรกิจตาม TFRS 3 ให้นำหลักการ TFRS 3 มาถือปฏิบัติ ยกเว้นกรณีการซื้อการดำเนินงานร่วมกันภายใต้การควบคุมเดียวกัน โดยมีหลักการสรุปได้ดังนี้

     • วัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่ระบุได้ด้วยมูลค่ายุติธรรมสำหรับรายการที่ไม่ได้รับการยกเว้นตาม TFRS 3

     • รับรู้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่ต้นทุนดังกล่าวเกิดขึ้นและได้รับบริการ

     • รับรู้สินทรัพย์และหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (Deferred tax) ที่เกี่ยวข้อง

     • รับรู้ส่วนเกินของสิ่งตอบแทนที่โอนให้ที่มากกว่าจำนวนสุทธิ ณ วันซื้อของสินทรัพย์ที่ระบุได้ที่ได้มาและหนี้สินที่รับมา เป็นค่าความนิยม (หากมี) และทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมทุกปี

     • ให้นำหลักการ TFRS 3 มาปฏิบัติกับการจัดตั้งการดำเนินงานร่วมกันเฉพาะในกรณีที่ธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Existing business) ถูกนำมาให้แก่การดำเนินงานร่วมกันในตอนจัดตั้งการดำเนินงานร่วมกัน

- ผู้ร่วมดำเนินงานรายหนึ่งอาจจะเพิ่มส่วนได้เสียใน Joint operation เดิม แต่ยังคงมีอำนาจควบคุมร่วม ในกรณีดังกล่าว ส่วนได้เสียเดิมที่มีอยู่ในการดำเนินงานร่วมกันจะไม่ถูกวัดมูลค่าใหม่หากผู้ร่วมดำเนินงานการยังคงมีการควบคุมร่วมอยู่

- กิจการต้องปฏิบัติตามส่วนที่เปลี่ยนแปลงในการปรับปรุงนี้โดยใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 12 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 12 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558  (IFRS 12 : Disclosure of Interests in Other Entities (Bound volume 2016 Consolidated without early application)) มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2558 โดยปรับปรุงย่อหน้าที่ 6 และ ค1ค และการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
 
กำหนดชัดเจนยิ่งขึ้นให้กิจการที่เป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุน(IE) โดยวัดมูลค่ายุติธรรมบนบริษัทย่อยทั้งหมด (กล่าวคือไม่มีการทำงบการเงินรวม) และต้องเปิดเผยตาม TFRS 12 ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
     • ดุลยพินิจและข้อสมมติที่สำคัญที่ทำให้เป็น IE
     • การเปลี่ยนแปลง เหตุผล และผลกระทบของการกลายเป็น/สิ้นสุดการเป็น IE
     • รายละเอียดบริษัทย่อยที่ไม่ได้นำมาจัดทำงบการเงินรวมเนื่องจากกิจการเป็น IE และใช้ FV to PL เช่น ชื่อ สถานที่ประกอบกิจการ สัดส่วนความเป็นเจ้าของ ข้อจำกัดที่สำคัญ ภาระผูกพันหรือความตั้งใจให้การสนับสนุนบริษัทย่อย 
     • รายละเอียดการร่วมการงานและบริษัทร่วมที่เป็นของ IE เช่น ชื่อ สถานที่ประกอบกิจการ สัดส่วนความเป็นเจ้าของ ข้อจำกัดที่สำคัญ ภาระผูกพัน เป็นต้น (ไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลทางการเงิน)
 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 104 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การบัญชีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
 
สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีการปรับปรุงจากฉบับปี 2545 โดยปรับปรุงการอ้างอิงคำนิยามของมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 13 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม
 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2540 (IAS No.39 (revised 1998), “Financial Investment: Recognition and Measurement”)
 
สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีการปรับปรุงจากฉบับเดิม โดยปรับปรุงคำนิยามของมูลค่ายุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม (เมื่อมีการประกาศใช้) และปรับปรุงการโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือการร่วมค้าไปเป็นเงินลงทุนประเภทอื่น และจากเงินลงทุนประเภทอื่นไปเป็นเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือการร่วมค้า รวมถึงการนำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้และตราสารทุนนั้นกล่าวรวมไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 107 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) และตัดภาคผนวก
 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 107 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2540 (IAS No.32 (revised 1998), “Financial Instruments: Disclosure and Presentation”) ซึ่งมีการปรับปรุงโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2540 (Amended by IAS No.39 (revised 1998), “Financial Instruments : Recognition and Measurement”) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญไม่แตกต่างกัน

สรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงจากฉบับเดิม โดยปรับปรุงคำนิยามของมูลค่ายุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม (เมื่อมีการประกาศใช้) และปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 7, “Financial Instruments: Disclosures”) ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 (Bound volume 2015 Consolidated without early application) โดยมีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างกัน
 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แนวปฏิบัติทางการบัญชี การกำหนดให้เครื่องมือทางการเงินเป็นเครื่องมือทางการเงินที่แสดงมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน
แนวปฏิบัติทางการบัญชีนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดให้เครื่องมือทางการเงินเป็นเครื่องมือทางการเงินที่แสดงมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการในการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง สัญญาประกันภัย เป็นครั้งแรก และการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ในอนาคต

สรุปสาระสำคัญ
แนวปฏิบัตินี้กำหนดเกี่ยวกับ
ทางเลือกในการกำหนดให้สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน  
กิจการอาจกำหนด ณ วันที่รับรู้เมื่อเริ่มแรก ให้สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน หากการกำหนดดังกล่าวช่วยขจัดหรือลดความไม่สอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญในการวัดมูลค่า หรือการรับรู้รายการ (บางครั้งอาจเรียกว่าการไม่จับคู่ทางบัญชี (accounting mismatch)) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สิน หรือการรับรู้กำไรและขาดทุนจากรายการดังกล่าวด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวเมื่อกำหนดแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก
การวัดมูลค่าเมื่อเริ่มแรก
กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรม ตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม โดยไม่รวมต้นทุนในการทำรายการซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาหรือการออกสินทรัพย์ทางการเงินนั้น
การวัดมูลค่าในภายหลัง
กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดให้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ด้วยมูลค่ายุติธรรม ตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม ทั้งนี้การวัดมูลค่ายุติธรรมดังกล่าวไม่รวมต้นทุนในการทำรายการซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาหรือการออกสินทรัพย์ทางการเงินนั้น
ผลกำไรและขาดทุน
ผลกำไรหรือขาดทุนทั้งหมดจากสินทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดให้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ต้องรับรู้ในกำไรหรือขาดทุน
การจัดประเภทรายการใหม่
กิจการต้องไม่โอนเครื่องมือทางการเงินนั้นออกจากประเภทที่แสดงมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน
กิจการต้องไม่จัดประเภทรายการใหม่สำหรับเครื่องมือทางการเงินจากประเภทอื่น ๆ เป็นประเภทที่แสดงมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนหลังจากการรับรู้เริ่มแรก
การเปิดเผยข้อมูลและการแสดงรายการ
เปิดเผยเหตุผลที่อธิบายว่าเครื่องมือดังกล่าวเข้าเงื่อนไขการจัดประเภทนี้ รวมถึงรายละเอียดของการกำหนดให้เครื่องมือทางการเงินแสดงมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงหรือกลยุทธ์การลงทุนที่ได้จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
โพสต์เมื่อ :
13 พ.ย. 2560 19:07:35
 48175
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์