ปัจจุบันมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยได้รับการจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับรวมเล่มสีฟ้า (2012 Edition of the Bound Volume of IFRS Blue book) ที่มีผลบังคับใช้กับรายงานทางการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555
อย่างไรก็ดี ในการกำหนดให้มาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้จัดทำรายงานทางการเงิน ผู้สอบบัญชี หน่วยงานกำกับดูแล นักวิเคราะห์ นักลงทุน ตลอดจนผู้ใช้รายงานทางการเงินกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจึงเห็นควรให้กำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ของรายงานทางการเงินในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) มาตรฐานการบัญชี (TAS) การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRIC) และการตีความมาตรฐานการบัญชี (SIC) ทั้งหมดที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ตาม 2012 IFRS (Blue Book) จะมีผลบังคับใช้กับรายงานทางการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
กลุ่มที่ 2 มาตรฐานการรายงานทางการเงินและมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) กำหนดให้มีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไปนั้น และจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติพร้อมกันทั้ง 5 ฉบับ ได้แก่ (1) IFRS 10 Consolidated Financial Statements (2) IFRS 11 Joint Arrangements (3) IFRS 12 Disclosure of Interests in Other Entities (4) IAS 27 Separate Financial Statements (5) IAS 28 Investments in Associates and Joint Ventures รวมทั้ง IFRS 13 Fair Value Measurement ซึ่งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีเห็นควรกำหนดให้มาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินในกลุ่มที่สองนี้มีผลบังคับใช้กับรายงานทางการเงินที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
กลุ่มที่ 3 มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ประกอบด้วย TFRS 9 Financial Instruments และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับประเทศไทยที่จัดทำขึ้นจาก (1) IAS 32 Financial Instruments: Presentation (2) IAS 39 Financial Instruments: Recognition and Measurement (3) IFRS 7 Financial Instruments: Disclosures ซึ่งแนวปฏิบัติทั้งหมด 5 ฉบับ ที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีอนุญาตให้กิจการสามารถนำข้อกำหนดของแนวปฏิบัติดังกล่าวไปปฏิบัติได้อย่างเป็นอิสระจากกัน ไม่ต้องนำไปปฏิบัติพร้อมกันทั้ง 5 ฉบับ โดยให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกิจการ ได้แก่ (1) แนวปฏิบัติ เรื่อง การแสดงรายการสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (2) แนวปฏิบัติ เรื่อง การรับรู้และวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน (3) แนวปฏิบัติ เรื่อง อนุพันธ์ทางการเงิน (4) แนวปฏิบัติ เรื่อง การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (5) แนวปฏิบัติ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน โดยมาตรฐานในกลุ่มที่สามนี้ยังประกอบด้วย TAS 41 เรื่อง เกษตรกรรม และ TFRS 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย ซึ่งมาตรฐานในกลุ่มนี้ทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้กับรายงานทางการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
นอกจากนี้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชียังอยู่ระหว่างการพัฒนาเกณฑ์ที่เหมาะสมในการแบ่งประเภทกิจการเพื่อกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินให้เหมาะสมกับขนาดของกิจการ ตลอดจนอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะขนาดกลางและขนาดย่อม(TFRS for SMEs) เพื่อให้เป็นไปตาม IFRS for SMEs (2009) โดยคาดว่าจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้กับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ตลอดจนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะขนาดเล็กปฏิบัติตามข้อกำหนดของ TFRS for NPAEs ต่อไปหรือให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้นตาม Micro-sized entity guidance ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ที่สนใจโปรดติดตามข่าวสารจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีที่จะเผยแพร่ต่อไปในอนาคตเพื่อติดตามความคืบหน้าของมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย