สภาวิชาชีพบัญชีจัดสัมมนาพิจารณ์ (Focus group) “ร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน

สภาวิชาชีพบัญชีจัดสัมมนาพิจารณ์ (Focus group) “ร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน





            เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สภาวิชาชีพบัญชี โดยคณะทำงานติดตามและศึกษาผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องสัญญาประกันภัยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ได้จัดสัมมนาพิจารณ์ “ร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย เฉพาะกลุ่มธุรกิจประกันภัย (ร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชีฯ)” ณ ศูนย์อบรมสัมมนาศาสตราจารย์เกียรติคุณเกษรี ณรงค์เดช อาคารสภาวิชาชีพบัญชี โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 175 คน สืบเนื่องจากร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2561) เรื่อง สัญญาประกันภัย ย่อหน้าที่ 20ก ได้อนุญาตแต่ไม่ได้กำหนดให้กิจการซึ่งเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 20ข มีทางเลือกให้ธุรกิจประกันภัยยังไม่ต้องถือปฏิบัติตามร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 โดยมีทางเลือก Temporary Exemption ที่อนุญาตให้ธุรกิจประกันภัยใช้ มาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันได้จนถึงปีที่มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS 17) มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้กิจการที่ใช้ทางเลือก Temporary Exemption ต้องเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2561) เรื่อง สัญญาประกันภัย
            เนื่องจากหากกิจการใช้ TFRS 9 ก่อน TFRS 17 (คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2565) อาจส่งผลกระทบต่องบการเงิน คือ การไม่จับคู่ทางบัญชี (Accounting Mismatch) ทำให้เกิดความผันผวนของผลประกอบการและผลกระทบต่อตัวเลขในงบการเงินซึ่งผู้ใช้งบการเงินอาจยากที่จะเข้าใจและอาจขาดความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ภาคธุรกิจจะต้องจัดประเภทรายการและวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินก่อนที่จะสามารถประเมินผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัยได้อย่างครบถ้วน รวมถึงทำให้เพิ่มต้นทุนและความพยายามในการจัดเตรียมข้อมูลและระบบต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้จัดทำและผู้ใช้งบการเงิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในเวลาที่ใกล้เคียงกันของมาตรฐานการรายงานทางการเงินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการจัดประเภทและวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงินให้แสดงรายการโดยสะท้อนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

ในการสัมมนานี้ สภาวิชาชีพบัญชีได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน ประกอบด้วย

1) คุณชาญชัย สกุลเกิดสิน
     - กรรมการบริหาร บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด
     - ประธานคณะทำงานติดตามและศึกษาผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาประกันภัย

2) คุณจอมขวัญ จันทร์ผา

     - ผู้จัดการอาวุโส บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด
     - คณะทำงานติดตามและศึกษาผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาประกันภัย

3) คุณอโนทัย ลีกิจวัฒนะ
     - หุ้นส่วนบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด
     - คณะทำงานติดตามและศึกษาผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาประกันภัย

4) คุณนันทวัฒน์ สำรวญหันต์
     - หุ้นส่วนสอบบัญชี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด
     - คณะทำงานติดตามและศึกษาผลกระทบมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาประกันภัย

     การสัมมนาครั้งนี้คณะวิทยากรได้สรุปภาพรวม เหตุผลและวัตถุประสงค์ ตลอดจนขอบเขตของร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชีฯ ฉบับนี้ นอกจากนี้ยังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชีฯ โดยอธิบายความแตกต่างจากร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน อีกทั้งได้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเตรียมพร้อมในการถือปฏิบัติให้ทันเวลา ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติ และตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย
     ทั้งนี้ท่านสามารถศึกษาทำความเข้าใจร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชีฯ ฉบับดังกล่าวโดยละเอียดได้จากเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี (www.tfac.or.th) และสามารถแสดงความคิดเห็นภายหลังจากการสัมมนาได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับจากวันสัมมนาครั้งนี้

โพสต์เมื่อ :
21 ก.พ. 2561 16:47:59
 5058
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์