เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ได้ยื่นหนังสือเสนอความเห็นแลข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา ต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ศธ. รับเรื่องแทน ณ กระทรวงศึกษาธิการ
“สมาพันธ์สภาวิชาชีพ” ซึ่งประกอบด้วย แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษาทั้ง 2 ฉบับแล้ว พบว่า ยังมีข้อบกพร่องที่จะนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ จึงรู้สึกเป็นกังวล
ต่อการบริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในหลายประเด็น ทั้งในส่วนของการกำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ทั้งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของบุคลากรและองค์กรที่จะเกิดขึ้น และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมของสภาวิชาชีพต่าง ๆ
โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพเห็นว่าบทบัญญัติร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับระบบการปฏิรูปการศึกษา และโดยที่บัญญัติมาตรา 64 ถึง มาตรา 66 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ โดยห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหลักสูตร หรือ กำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชา ย่อมมีผลกระทบต่อสภาวิชาชีพที่มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้แล้ว จึงขอให้พิจารณาทบทวนในเรื่องดังกล่าว รวมถึงเรื่องบทนิยามคำว่า “สภาวิชาชีพ” ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านพยาบาล แพทย์ วิศวกร บัญชี และด้านวิชาชีพอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของวิชาชีพต่าง ๆ เนื่องจากมีรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ที่จะเกิดความทับซ้อนของหน้าที่ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวควรให้อำนาจสภาวิชาชีพเข้ามามีบทบาทในการเสนอและรับรองหลักสูตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนกับตัวนักศึกษา และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม