วันนี้ (29 สิงหาคม 2561) สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทยได้ร่วมจัดแถลงข่าว “สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย (ร่าง)พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ในการนี้ สมาชิกของสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงยืนยันเจตนาคัดค้านมาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 ของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ....ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 เห็นชอบและรับทราบร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอไปตรวจพิจารณาแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในประเด็นแถลงข่าว 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ผลกระทบตามมาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ในการรับรองสถาบันและหลักสูตร ซึ่งการห้ามมิให้สภาวิชาชีพเข้าไปมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ มีผลหมายถึงการที่จะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถสอบ วัดความรู้ผ่านเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้จะทำให้เกิดความสูญเสียเวลา ทรัพย์สินเงินทอง และสถานะทางจิตใจ และอาจกระทบต่อคุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพให้ต่ำลง รวมถึงการรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพทำเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชนที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 2 ผลกระทบตามมาตรา 48 เกี่ยวกับการให้บริการวิชาชีพของสถาบันการศึกษาซึ่งสถาบันการศึกษาควรมีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการ ไม่ใช่การให้บริการทางวิชาชีพและคำปรึกษาทางวิชาชีพ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวจะถือเป็นการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพนั้นๆ อันจะมีผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายของสภาวิชาชีพด้วย
ประเด็นที่ 3 ผลกระทบด้านการต่างประเทศ โดยในประเด็นนี้นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายก สภาวิชาชีพบัญชีคนที่สามในฐานะผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชี ได้กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีได้นำกฎเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศซึ่งมีขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรทางการบัญชีมาพิจารณารับรองหลักสูตรปริญญา ของสถาบันการศึกษาด้วย ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่จะเข้าสู่วิชาชีพบัญชีและเป็นหลักที่ปฏิบัติกันในระดับสากล โดยจะส่งผลให้นานาชาติให้การยอมรับผู้ประกอบวิชาชีพไทย เมื่อสภาวิชาชีพผลิตผู้ประกอบวิชาชีพออกไปปฏิบัติงาน ผลงานก็ได้รับการยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การรับรองดังกล่าวยังเป็นการสร้างความร่วมมือช่วยให้หลักสูตรของสถาบันการศึกษามีความเป็นสากลตามไปด้วย หากสภาวิชาชีพไม่มีส่วนร่วมในการดูแลหลักสูตรแล้ว อนาคตย่อมมีผลกระทบในการจัดหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่อาจจะเปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นการหารายได้เป็นหลัก และจะเกิดการบั่นทอนต่อผลิตผู้ประกอบวิชาชีพที่อาจไม่ได้รับความรู้ความสามารถได้เทียบเท่าสากล ลำดับต่อไปก็จะลดความเชื่อในตัวผู้ประกอบวิชาชีพอีกด้วย