สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และแนวปฏิบัติทางการบัญชี

สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และแนวปฏิบัติทางการบัญชี

สรุปประเด็นสำคัญร่างมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
และแนวปฏิบัติทางการบัญชี รวมจำนวน 9 ฉบับ

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก (TFRS 1)

TFRS 1 ระบุถึงข้อกำหนดในการจัดทำงบการเงินฉบับสมบูรณ์สำหรับกิจการที่ต้องการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงรอบระยะเวลารายงานของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรกและงบการเงินสำหรับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้กิจการต้องใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันตลอดรอบระยะเวลารายงานทั้งหมดที่นำเสนอในงบการเงินของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรก นโยบายการบัญชีดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับที่มีผลบังคับใช้ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรก

TFRS 1 ให้ข้อยกเว้นสำหรับข้อกำหนดในการปฏิบัติตามวิธีปรับย้อนหลังงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลารายงานก่อนในบางเรื่องเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่ต้นทุนของการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสูงกว่าประโยชน์ที่ผู้ใช้งบการเงินได้รับ

TFRS 1 ยังได้กำหนดข้อห้ามในการปฏิบัติตามวิธีปรับย้อนหลังงบการเงินในบางเรื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่การใช้วิธีปรับย้อนหลังกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารเกี่ยวกับสถานการณ์ในอดีต หลังจากที่ทราบผลลัพธ์ของรายการดังกล่าวแล้ว

TFRS 1 ระบุถึงข้อกำหนดที่ให้เปิดเผยข้อมูลที่อธิบายถึงวิธีการเปลี่ยนแปลงจากหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปที่ใช้ก่อนหน้ามาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานทางการเงิน และกระแสเงินสดของกิจการที่ได้รายงาน  

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 7)

TFRS 7 กำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินได้ถึง

• ความมีนัยสำคัญของเครื่องมือทางการเงินต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ
• ลักษณะและระดับของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือทางการเงินที่กิจการเปิดรับระหว่างรอบระยะเวลารายงานและ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน รวมทั้งแนวทางการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว โดยการเปิดเผยข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ นโยบาย และกระบวนการของผู้บริหารในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ส่วนการเปิดเผยข้อมูลเชิงปริมาณให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับของความเสี่ยงที่กิจการเผชิญอยู่ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้มีการนำเสนอเป็นการภายในต่อผู้บริหารสำคัญของกิจการ การเปิดเผยข้อมูลทั้งสองด้านนี้แสดงให้เห็นภาพรวมของกิจการเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทางการเงินและฐานะเปิดต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือทางการเงินดังกล่าว

TFRS 7 ให้ถือปฏิบัติกับทุกกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่มีเครื่องมือทางการเงินจำนวนน้อยรายการ (เช่น กิจการประเภทผู้ผลิต ซึ่งมีเครื่องมือทางการเงินเพียงเงินสด ลูกหนี้การค้า และเจ้าหนี้การค้า) ตลอดจนกิจการที่มีเครื่องมือทางการเงินในจำนวนมากรายการ (เช่น สถาบันการเงินซึ่งสินทรัพย์และหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือทางการเงิน)TFRS 7 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TFRS 9 TAS 32 TFRIC 16 และ TFRIC 19

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9)

TFRS 9 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TFRS 7 TAS 32 TFRIC 16 และ TFRIC 19

TFRS 9 ระบุวิธีที่กิจการต้องใช้ในการจัดประเภทและวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน และสัญญาที่จะซื้อหรือจะขายรายการที่ไม่ใช่รายการทางการเงิน

TFRS 9 กำหนดให้กิจการรับรู้สินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินในงบแสดงฐานะทางการเงินของกิจการเมื่อกิจการเป็นคู่สัญญาตามข้อกำหนดของสัญญาของเครื่องมือทางการเงินเหล่านั้น ณ วันที่รับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินที่ไม่ได้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนด้วยมูลค่ายุติธรรม บวกหรือหักด้วยต้นทุนการทำรายการซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาหรือการออกสินทรัพย์ทางการเงิน หรือหนี้สินทางการเงินนั้น

TFRS9 แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

  1. การรับรู้รายการและการวัดมูลค่า
  2. การด้อยค่า
  3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง

สินทรัพย์ทางการเงิน

เมื่อกิจการรับรู้รายการสินทรัพย์ทางการเงินเมื่อเริ่มแรก กิจการจะจัดประเภทของสินทรัพย์ทางการเงินโดยอ้างอิงตามโมเดลธุรกิจที่ใช้ในการจัดการสินทรัพย์ และตามลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ของกิจการ ดังนี้

- ราคาทุนตัดจำหน่าย – สินทรัพย์ทางการเงินจะวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อดังต่อไปนี้

  • กิจการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินนั้นตามโมเดลธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์การถือครองสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญา และ
  • ข้อกำหนดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งทำให้เกิดกระแสเงินสดซึ่งเป็นการจ่ายเพียงเงินต้นและดอกเบี้ยจากยอดคงเหลือของเงินต้นในวันที่กำหนดไว้

- มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น – สินทรัพย์ทางการเงินที่ได้รับการจัดประเภทและวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นต่อเมื่อกิจการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินนั้นตามโมเดลธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาและเพื่อขายสินทรัพย์ทางการเงิน

- มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน – สินทรัพย์ทางการเงินที่มิได้ถือไว้เพื่อทั้งสองโมเดลธุรกิจข้างต้นแล้วนั้น ต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

เฉพาะเมื่อกิจการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจในการบริหารสินทรัพย์ทางการเงิน กิจการต้องจัดประเภทรายการใหม่สำหรับสินทรัพย์ทางการเงินที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

หนี้สินทางการเงิน

หนี้สินทางการเงินทั้งหมดให้วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย ยกเว้นหนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน หนี้สินดังกล่าวรวมถึงหนี้สินอนุพันธ์ (ไม่รวมถึงหนี้สินอนุพันธ์ที่เป็นสัญญาค้ำประกันทางการเงิน หรือที่ได้รับการกำหนดให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลในการป้องกันความเสี่ยง) หนี้สินอื่นที่ถือไว้เพื่อค้า และหนี้สินที่กิจการเลือกกำหนดให้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (ดูหัวข้อ “ทางเลือกในการวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม” ด้านล่าง)

ภายหลังการรับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก กิจการไม่สามารถจัดประเภทหนี้สินทางการเงินได้

ทางเลือกในการวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม

ณ วันที่มีการรับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก กิจการอาจเลือกกำหนด (ไม่สามารถยกเลิกได้) ให้รับรู้สินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินที่ต้องวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายหรือมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ไปเป็นการวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนแทน หากการกำหนดดังกล่าวช่วยขจัดหรือลดความไม่สอดคล้องของการวัดมูลค่าหรือการรับรู้รายการอย่างมีนัยสำคัญ (บางครั้งเรียกว่า “การจับคู่อย่างไม่เหมาะสมทางการบัญชี” หรือ “Accounting Mismatch”) หรือเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น

การด้อยค่า

การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินให้รับรู้เป็นขั้น โดย

- ขั้นที่ 1 (Stage 1) เมื่อมีการซื้อหรือกำเนิดเครื่องมือทางการเงิน กิจการจะต้องรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า (12-month expected credit losses) ในกำไรหรือขาดทุน พร้อมกับการรับรู้บัญชีค่าเผื่อผลขาดทุน การรับรู้ดังกล่าวถือเป็นการรับรู้ผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มแรก สำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน ดอกเบี้ยรับคำนวณจากมูลค่าตามบัญชีขั้นต้น (gross carrying amount) (โดยไม่มีการปรับลดผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น)

- ขั้นที่ 2 (Stage 2) เมื่อความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้พิจารณาว่าอยู่ในระดับต่ำ กิจการจะต้องรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุเต็มจำนวน (full lifetime expected credit losses) ในกำไรหรือขาดทุน ดอกเบี้ยรับคำนวณเช่นเดียวกับขั้นที่ 1

- ขั้นที่ 3 (Stage 3) เมื่อความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่พิจารณาได้ว่าเกิดการด้อยค่าด้านเครดิตขึ้น (credit-impaired) ดอกเบี้ยรับคำนวณจากราคาทุนตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ทางการเงิน (Amortised cost) (โดยใช้มูลค่าตามบัญชีขั้นต้นปรับลดด้วยค่าเผื่อผลขาดทุน) สินทรัพย์ทางการเงินในขั้นนี้โดยปกติมักจะมีการพิจารณาเป็นแต่ละรายการ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุจะถูกรับรู้สำหรับสินทรัพย์ทางการเงินนั้น

การบัญชีป้องกันความเสี่ยง

การบัญชีป้องกันความเสี่ยงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลกระทบในงบการเงิน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงของกิจการที่ใช้เครื่องมือทางการเงินในการจัดการฐานะเปิดที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงนั้นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุน หรือกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น

การบัญชีป้องกันความเสี่ยงเป็นทางเลือก โดยกิจการที่เลือกปฏิบัติอาจกำหนดความสัมพันธ์ของการป้องกันความเสี่ยงระหว่างเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง และรายการที่มีการป้องกันความเสี่ยง สำหรับความสัมพันธ์ของการป้องกันความเสี่ยงที่เข้าเงื่อนไขของ TFRS9 กิจการต้องถือปฏิบัติกับผลกำไรหรือขาดทุนจากเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงและรายการที่มีการป้องกันความเสี่ยงตามข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษของ TFRS9 โดย TFRS9 ได้ระบุความสัมพันธ์ของการป้องกันความเสี่ยงเป็น 3 ประเภทและให้ข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษตามแต่ละประเภทดังนี้

- การป้องกันความเสี่ยงในมูลค่ายุติธรรม คือ การป้องกันความเสี่ยงของฐานะเปิดต่อการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่รับรู้รายการแล้ว หรือสัญญาผูกมัดที่ยังไม่ได้รับรู้รายการ หรือส่วนประกอบของรายการดังกล่าวข้างต้น อันเนื่องมาจากความเสี่ยงใดความเสี่ยงหนึ่งและมีผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุน

- การป้องกันความเสี่ยงในกระแสเงินสด คือ การป้องกันความเสี่ยงของฐานะเปิดต่อความผันผวนของกระแสเงินสด อันเนื่องมาจากความเสี่ยงใดความเสี่ยงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์หรือหนี้สินที่รับรู้รายการแล้ว (เช่น การจ่ายชำระดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมดหรือบางส่วนของหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว) หรือรายการที่คาดการณ์ที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ในระดับสูงมาก หรือส่วนประกอบของรายการดังกล่าวข้างต้น และมีผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุน

- การป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิของหน่วยงานต่างประเทศตามที่นิยามไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 21 (ปรับปรุง 2561) เรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (เมื่อมีการประกาศใช้) 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า (TFRS 15)

TFRS 15 มีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดยอนุญาตใหนำมาใช้ก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้

TFRS 15 กำหนดหลักการสำหรับการรายงานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน เกี่ยวกับ ลักษณะ จำนวนเงิน จังหวะเวลา และความไม่แน่นอนของรายได้ และกระแสเงินสดจากสัญญาของกิจการที่ทำกับลูกค้า การถือปฏิบัติตาม TFRS 15 กิจการรับรู้รายได้เพื่อแสดงการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สัญญาให้ลูกค้า ในจำนวนเงินที่สะท้อนถึงสิ่งตอบแทนที่กิจการคาดว่าจะมีสิทธิได้รับจากการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการนั้นๆ

ภายใต้การรับรู้รายได้ตาม TFRS 15 กิจการต้องถือปฏิบัติตามหลักการรับรู้รายได้ 5 ขั้นตอนดังนี้

- ขั้นตอนแรก : ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
- ขั้นที่สอง : ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา (Performance Obligations) ภาระที่ต้องปฏิบัติคือคำสัญญาหรือข้อตกลงที่จะส่งมอบสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันให้แก่ลูกค้า
- ขั้นที่สาม : กำหนดราคาของรายการ โดยราคาของรายการคือจำนวนของสิ่งตอบแทนในสัญญาที่กิจการคาดว่าจะมีสิทธิได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกับการส่งมอบสินค้าหรือบริการตามคำสัญญาให้ลูกค้าในกรณีที่สิ่งตอบแทนผันแปรได้ กิจการต้องประมาณจำนวนสิ่งตอบแทนที่กิจการจะมีสิทธิที่จะได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการตามคำสัญญาที่ให้กับลูกค้า
- ขั้นที่สี่ : ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญาโดยใช้เกณฑ์ของราคาขายแบบเอกเทศของสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันตามคำสัญญาในสัญญา
- ขั้นที่ห้า: รับรู้รายได้เมื่อเมื่อกิจการได้ปฏิบัติ (หรือขณะปฏิบัติ) ตามภาระที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาแล้วโดยการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สัญญาให้ลูกค้า (ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกค้าได้การควบคุมสินค้าหรือบริการนั้น) ภาระที่ต้องปฏิบัติอาจแล้วเสร็จ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (Point in time) (สำหรับกรณีคำสัญญาการส่งมอบสินค้าทั่วๆ ไปให้ลูกค้า) หรือตลอดช่วงเวลาหนึ่ง (Over time) (สำหรับกรณีคำสัญญาการส่งมอบบริการทั่วๆ ไปให้ลูกค้า) สำหรับกรณีภาระที่ต้องปฏิบัติแล้วเสร็จในตลอดช่วงเวลาหนึ่ง กิจการรับรู้รายได้ ในตลอดช่วงเวลาหนึ่งดังกล่าวโดยการเลือกวิธีที่เหมาะสมสำหรับการวัดความก้าวหน้าของภาระที่ต้องปฏิบัติที่แล้วเสร็จ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน (TAS 32)

TAS 32 ระบุวิธีแสดงรายการสำหรับเครื่องมือทางการเงิน การรับรู้รายการและการวัดมูลค่าและการเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงินให้เป็นไปตาม TFRS 9 และ TFRS 7 ตามลำดับ

สำหรับการแสดงรายการเครื่องมือทางการเงินสามารถจัดประเภทได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน และตราสารทุน ความแตกต่างระหว่างหนี้สินทางการเงินและตราสารทุนขึ้นอยู่กับการที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องนำส่งเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นที่นำมาปฏิบัติในบางกรณี เมื่อรายการนั้นจะได้รับการชำระด้วยหุ้นของผู้ออก การจัดประเภทรายการขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ออกว่าเป็นจำนวนคงที่หรือผันแปร

เครื่องมือทางการเงินแบบผสม เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพจะได้รับการแบ่งเป็นองค์ประกอบที่เป็นส่วนของเจ้าของและหนี้สิน เมื่อมีการออกตราสาร องค์ประกอบที่เป็นส่วนของเจ้าของจะวัดมูลค่าตามผลต่างระหว่างมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินแบบผสมและมูลค่ายุติธรรมขององค์ประกอบที่เป็นส่วนของหนี้สิน

สินทรัพย์ทางการเงิน และหนี้สินทางการเงินจะได้รับการหักกลบต่อเมื่อกิจการมีสิทธิตามกฎหมายในการนำจำนวนที่รับรู้มาหักกลบลบหนี้กัน และมีความตั้งใจที่จะจ่ายชำระจำนวนที่รับรู้ไว้ด้วยยอดสุทธิ หรือตั้งใจที่จะรับประโยชน์จากสินทรัพย์และชำระหนี้สินในเวลาเดียวกัน

TAS 32 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TFRS 7 TFRS 9 TFRIC 16 และ TFRIC 19

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง การป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศ (TFRIC 16)

TFRIC 16 อธิบาย 3 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศ

- สกุลเงินที่ใช้นำเสนองบการเงินไม่ก่อให้เกิดฐานะเปิดต่อความเสี่ยงที่กิจการนำการบัญชีป้องกันความเสี่ยงมาปฏิบัติ ดังนั้น กิจการที่เป็นบริษัทใหญ่อาจเลือกกำหนดให้ความเสี่ยงที่มีการป้องกันเป็นเฉพาะผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากผลต่างระหว่างสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของกิจการที่เป็นบริษัทใหญ่กับของหน่วยงานต่างประเทศ
- เครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศอาจถือโดยกิจการใดๆ ในกลุ่ม มิใช่เฉพาะเพียงบริษัทใหญ่
- กิจการต้องปฏิบัติตาม TFRS9 ในการระบุมูลค่าที่ต้องมีการจัดประเภทรายการใหม่ไปยังกำไรหรือขาดทุนจากรายการผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง

TFRIC 16 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TFRS 7 TFRS 9 TAS 32 และ TFRIC 19

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 19 เรื่อง การชำระหนี้สินทางการเงินด้วยตราสารทุน (TFRIC19)

TFRIC 19 ระบุถึงกรณีที่ลูกหนี้ออกตราสารทุนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้สินทางการเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ลูกหนี้ต้องตัดรายการหนี้สินทางการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนดังกล่าว ลูกหนี้ต้องวัดมูลค่าตราสารทุนที่ออกให้แก่เจ้าหนี้ด้วยมูลค่ายุติธรรม (หรือมูลค่าของตราสารหนี้ที่ชำระ ในกรณีที่มูลค่ายุติธรรมไม่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ) ลูกหนี้รับรู้ในกำไรหรือขาดทุนด้วยผลต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีของหนี้สินทางการเงิน(ทั้งหมดหรือบางส่วน) ที่ชำระ และมูลค่าของตราสารทุนที่ออก

TFRIC 19 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TFRS 7 TFRS 9 TAS 32 และ TFRIC 16

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 22 เรื่อง รายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศและสิ่งตอบแทนจ่ายล่วงหน้า (TFRIC 22)

TFRIC 22 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562

TFRIC 22 อธิบายว่าควรนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราใดมาใช้กับรายการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งตอบแทนที่ได้จ่ายหรือที่ได้รับล่วงหน้าเป็นเงินตราต่างประเทศ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย

แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 (ปรับปรุง 2561) เรื่อง สัญญาประกันภัย (เมื่อมีการประกาศใช้) ซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย (International Financial Reporting Standard No.4 : Insurance contract) อนุญาตให้ใช้การยกเว้นการถือปฏิบัติตาม IFRS 9 เป็นการชั่วคราวได้จนกว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS 17) จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยในต่างประเทศยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 เรื่อง การรับรู้รายการและการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน (International Accounting Standard No.39 : Financial Instruments : Recognition and Measurement) ต่อไป อย่างไรก็ตาม สภาวิชาชีพบัญชีมิได้ประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวในประเทศไทย อีกทั้งมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนจะถูกยกเลิกไปในปี 2563 ทำให้จำเป็นต้องกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้กับธุรกิจประกันภัยที่เลือกใช้ข้อยกเว้นในการถือปฏิบัติตาม TFRS 9 เป็นการชั่วคราวตามที่กำหนดใน TFRS 4 (ปรับปรุง 2561) ดังกล่าว

แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับดังกล่าวปรับปรุงให้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ TFRS 9 โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ

  1. การรับรู้รายการและการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งพัฒนาให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
  2. การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
  3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
  4. การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน

แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินของบริษัทประกันภัยที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ (Early adoption) ทั้งนี้อนุญาตให้ถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปเท่านั้น และต้องปฏิบัติพร้อมกับ TAS 32 TFRIC 16 และ TFRIC 19

โพสต์เมื่อ :
3 ต.ค. 2561 11:35:46
 125871
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์