เปิดรับความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315

เปิดรับความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315

            ตามที่ IAASB ได้ประกาศร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315 (ปรับปรุง) เรื่อง การระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ โดยทำความเข้าใจกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการซึ่ง IAASB ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ IFAC เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 และเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่ได้รับความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว IAASB มีแผนที่จะปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562

            ท่านสามารถอ่านสรุปการเปลี่ยนแปลงของร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315 (ปรับปรุง)  จากบทความของรศ.ดร.สมพงษ์ และ ดร. จุฑาทิพ (อนุกรรมการมาตรฐานด้านการสอบบัญชีและเทคนิคการสอบบัญชี) ซึ่งได้เผยแพร่ลงบน Newsletter ฉบับที่ 69 เดือนกันยายน 2561 หน้า 10-11 (Download)

สรุปประเด็นการเปลี่ยนแปลงของร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315 (ปรับปรุง)

  • กรอบแนวคิดพื้นฐานของแบบจำลองความเสี่ยงจากการสอบบัญชี (Fundamental concept of audit risk model) ยังคงเหมือนเดิม คือประกอบด้วยความเสี่ยงสืบเนื่อง (Inherent risk) และความเสี่ยงจากการควบคุม (Control risks) แต่ IAASB ได้สื่อสารเกี่ยวกับการระบุและประเมินความเสี่ยงในแต่ละองค์ประกอบของความเสี่ยงจากการสอบบัญชีให้ชัดเจนและละเอียดมากขึ้น
  • เน้นให้ผู้สอบบัญชีพิจารณาถึงกรอบแนวคิดมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกิจการ มีการระบุอย่างชัดเจนว่าผู้สอบบัญชีต้องเข้าใจแบบจำลองการทำธุรกิจของกิจการและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารของกิจการในการประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดของมาตรฐานรายงานทางการเงินกับลักษณะและสถานการณ์ของกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการ
  • เน้นความสำคัญของการใช้การสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional skepticism) ซึ่งผู้สอบบัญชีจะต้องเข้าใจกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการ ตลอดจนมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 315 ปัจจุบันคือ ผู้สอบบัญชีต้องทำความเข้าใจมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้วย
  • การประเมินความเสี่ยงจากการควบคุมภายในมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับปรับปรุงนี้ได้ใช้คำว่า “ระบบการควบคุมภายใน” (System of Internal Control) ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบตามกรอบของ COSO และเขียนอย่างละเอียดมากขึ้นในแต่ละองค์ประกอบของการควบคุมภายในตามกรอบของ COSO Internal Control Framework นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้สอบบัญชีทำความเข้าใจ ระบุและประเมินความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของกิจการซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบการควบคุมภายใน
  • ตัดวรรคที่เกี่ยวกับข้อพิจารณาเฉพาะสำหรับกิจการขนาดเล็กออก เนื่องจากมาตรฐานฉบับนี้ตั้งใจใช้กับทุกกิจการไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
  • กล่าวถึงการพิจารณานำอุปกรณ์เครื่องมืออัตโนมัติและเทคนิคต่างๆ (Automated tools and techniques ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า Data Analytics) เข้ามาใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอบบัญชีถึงความเหมาะสมของการใช้ในแต่ละสถานการณ์

ท่านสามารถดู Exposure draft ของ ISA 315 (Revised) Full Version ซึ่ง IAASB ได้เผยแพร่ตามลิงค์ด้านล่าง

http://www.ifac.org/publications-resources/exposure-draft-isa-315-revised-identifying-and-assessing-risks-material หรือ Click

            ท่านสมาชิกสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315 (ปรับปรุง) ได้ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2561 และส่งมาที่ auditing@tfac.or.th โดยฝ่ายวิชาการจะรวบรวมผลเสนอในการประชุมคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี และนำมติของคณะกรรมการฯ ส่ง comment ไปยัง IAASB ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ต่อไป

 

โพสต์เมื่อ :
9 ต.ค. 2561 13:38:46
 3151
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์