สภาวิชาชีพบัญชีผนึกกำลังร่วมกับ 5 หน่วยงานบัญชีร่วมส่งเสริมผลักดันการดำเนินงานธุรกิจให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว โดยมีเป้าหมายเน้นสร้างศักยภาพของสำนักงานบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีภาษีอากร และผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ด้านบัญชี และภาษีอากร และประสบการณ์ที่เพียงพออันจะส่งผลให้ระบบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สภาวิชาชีพบัญชีฯ) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว” ระหว่างสมาคมสำนักงานบัญชีไทย สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพสมาคมสำนักงานบัญชีและกฎหมาย สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ลงนาม ณ วันที่ 30 มกราคม 2562 ณ อาคารสภาวิชาชีพบัญชี สุขุมวิท 21 (อโศก)
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า “การร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงานนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมพัฒนาการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวตามนโยบายของภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของภาคธุรกิจเศรษฐกิจประเทศไทย สำหรับมาตรการเริ่มแรกในการร่วมมือระหว่างกัน คือ การร่วมสนับสนุนและให้ความรู้แก่สำนักงานบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีภาษีอากร และผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว และการนำระบบเทคโนโลยีทางบัญชีมาใช้ ซึ่งขณะนี้สภาวิชาชีพบัญชีฯอยู่ระหว่างพัฒนา Application SME สบายใจ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการบัญชีให้มีมาตรฐานและถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ครับ”
“นอกจากนั้น ทั้ง 6 หน่วยงาน ยังมีแผนร่วมกันในการเผยแพร่ความรู้ด้านบัญชีและภาษี ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่เพื่อให้สำนักงานบัญชี สำนักสอบบัญชี ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีภาษีอากร และผู้ประกอบการ ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารความคิดเห็นระหว่างองค์กรเพื่อประโยชน์การพัฒนางานด้านต่าง ๆ และเป็นศูนย์กลางข้อมูลผู้ให้บริการด้านวิชาชีพที่จำเป็นแก่การประกอบธุรกิจต่อไป”
สภาวิชาชีพบัญชีฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำบัญชีเดียวให้ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับฐานะการเงิน และจัดทำบัญชีหรืองบการเงินให้สอดคล้องกับผลการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินและการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ในส่วนของภาครัฐก็จะสามารถมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงและชัดเจน และสามารถกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจได้เหมาะสมตรงต่อความต้องการของธุรกิจ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และส่งผลสำเร็จเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน