การจองสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) : รบกวนขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับห

การจองสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) : รบกวนขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับห

Q:

การจองสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) :

รบกวนขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการบันทึกบัญชีเรื่อง forward contract ดังนี้ค่ะ

  1. ณ วันที่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ บริษัทบันทึกบัญชี ซื้อสินค้า และ เจ้าหนี้ โดยใช้ Rate ณ วันที่ตาม Invoice ตามปกติใช่หรือไม่
  2. ณ วันที่ทำสัญญาซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) กับธนาคาร ทางบริษัทต้องบันทึกบัญชีหรือไม่, ถ้าบันทึกต้องบันทึกอย่างไร, ใช้ Rate ไหนบันทึกบัญชี
  3. กรณีที่ระยะเวลาของสัญญา forward contract ข้ามปี ณ วันที่สิ้นปี ต้องมีการปรับปรุงกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามประมวลรัษฏากร ม.65 ทวิ หรือไม่
  4. เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลา forward contract บริษัทต้องบันทึกบัญชีอย่างไร

ในกรณีที่ครบกำหนดตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทต้องการที่จะต่อสัญญาใหม่เช่นนี้ บริษัทต้องบันทึกบัญชีอย่างไร

(คำถามเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558)

A:

กรณีการบันทึกเรื่อง Forward contract นั้น ปัจจุบันมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย ทั้งฉบับ PAE และ NPAE ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน ในทางปฏิบัติจึงมักถือปฏิบัติได้ 3 วิธีคือ

  1. ไม่บันทึกบัญชีใดๆ แต่เปิดเผยจำนวนเงินตามสัญญา (Notional amount) และมูลค่ายุติธรรมของสัญญาที่ทำ Forward contract ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พร้อมทั้งอาจเปิดเผยถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัท และการจัดการความเสี่ยงของบริษัทเพิ่มเติม ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัตินอกงบดุล (off balance sheet) ที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีมิได้สนับสนุน
  2. บันทึกตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 52 เรื่อง การแปลงค่าสกุลเงินตราต่างประเทศ (SFAS No. 52, “Foreign Currency Translation”) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 โดยสามารถอ้างอิงได้จาก link ของกรมสรรพากรhttp://www.rd.go.th/publish/3583.0.html
  3. บันทึกจำนวนที่ทำ Forward contract ไว้กับธนาคาร ด้วยมูลค่ายุติธรรมของสัญญา Forward ที่ธนาคารคำนวณให้ และรับรู้รายการอ้างอิงที่ได้รับการป้องกันความเสี่ยง (Underlying hedged items) ตามวิธีปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่ระบุไว้ใน IAS 39 Financial Instruments: Recognition and Measurement

ทั้งนี้ทางเลือกทั้ง 3 ไม่ได้มีกล่าวไว้ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยโดยตรง แต่เป็นเพียงวิธีการที่กิจการทั่วไปมักถือปฏิบัติ ดังนั้นขอให้ท่านสมาชิกปรึกษาผู้สอบบัญชีของบริษัทอีกครั้งเพื่อพิจารณาถึงทางเลือกแต่ละทางก่อนตัดสินใจ นอกจากนี้ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบัญชีสำหรับสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้จากบทความเรื่อง รายการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า...มีที่มีทางเสียที ที่เขียนขึ้นโดยรศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี และเผยแพร่อยู่ใน website ของสภาวิชาชีพบัญชีฯในขณะนี้

โพสต์เมื่อ :
20 ต.ค. 2560 10:49:25
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
25 พ.ย. 2567 23:04:50
โดย :
 20750
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์