การตัดหนี้สูญ :
กิจการใช้เกณฑ์เงินสดในการยื่นภาษี ดังนั้น การบันทึกรายได้จะบันทึกดังนี้
Dr. ลูกหนี้ 107
Cr. ภาษีขายรอเรียกเก็บ 7
รายได้ค่าบริการ 100
อยากสอบถามว่า กรณีจะตั้งหนี้สูญจะต้องบันทึกด้วยมูลค่าก่อน Vat หรือเปล่าครับ
Dr. หนี้สูญ 100
ภาษีขายรอเรียกเก็บ 7
Cr. ลูกหนี้ 107
(คำถามเดือนมีนาคม 2559)
การตัดหนี้สูญในทางบัญชีให้อ้างอิงจากย่อหน้าที่ 9 ของ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 101 เรื่อง หนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญ หากใช้มาตรฐานชุดใหญ่ (TFRSs) หรือ ย่อหน้าที่ 83 ของ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หากใช้มาตรฐานชุดเล็ก (TFRS for NPAEs) ซึ่งให้รับรู้หนี้สูญตามจำนวนลูกหนี้ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้ และกิจการต้องพิจารณาความเป็นไปได้ว่ากิจการมั่นใจแล้วว่าไม่มีความเป็นไปได้จะสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ กิจการจึงสามารถพิจารณาตัดหนี้สูญได้
อย่างไรก็ตามการกลับรายการหนี้สินจาก VAT ขายรอเรียกชำระ ไม่ถือเป็นการตัดรายการหนี้สูญ แต่ถือเป็นการล้างรายการหนี้สินของบริษัทที่มีภาระผูกพันต่อหน่วยงานอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ ดังนั้นกิจการต้องมั่นใจว่าจะไม่มีภาระผูกพันจากการจ่ายชำระภาษีขายในส่วนนี้แก่กรมสรรพากรอย่างแท้จริง ในทางกลับกัน หากกิจการอาจยังมีภาระผูกพันจากการที่ต้องนำส่งภาษีขายรอเรียกเก็บนี้ในอนาคต กิจการไม่ควรล้างรายการหนี้สินนี้ออก ดังนั้นรายการบันทึกบัญชีอาจเปลี่ยนไป
ในทางปฏิบัติ หากมั่นใจว่าไม่มีภาระผูกพันจากการจ่ายชำระภาษีขายรอเรียกเก็บแน่นอนแล้ว และต้องมั่นใจว่าไม่มีภาระผูกพันจากการจ่ายภาษีขายแน่นอน อาจลงรายการสุทธิของลูกหนี้ 107 บาท กับ ภาษีขายรอเรียกเก็บ 7 บาทก่อน คงเหลือลูกหนี้ 100 บาท แล้วจึงทำการตัดหนี้สูญเต็มจำนวน ซึ่งจะเป็นไปตามที่กล่าวในมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว
แต่หากไม่มั่นใจว่าจะต้องจ่ายภาษีขายดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่สามารถบันทึกล้างภาษีขายรอเรียกเก็บออกจากบัญชีได้ การตัดหนี้สูญจะต้องทำตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวคือรับรู้หนี้สูญเต็มจำนวนลูกหนี้ที่มีอยู่คือ 107 บาท และรับรู้การล้างภาษีขายรอเรียกเก็บออกจากบัญชีเข้าสู่งบกำไรขาดทุนในปีที่มั่นใจว่าไม่ต้องจ่ายภาษีขายดังกล่าว
ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ และความเข้าใจในเอกสารหลักฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับรายการมากกว่า เพื่อให้ได้รับคำตอบที่เหมาะสมตามควรแก่สถานการณ์ อีกทั้งเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามประมวลรัษฎากร