รายได้ :
ดิฉันมีปัญหารบกวนขอสอบถามค่ะ ดิฉันทำบัญชีของธุรกิจลิสซิ่ง สัญญาเช่าเป็นแบบประเภทสัญญาเช่าทางการเงิน ค่าเช่าที่เก็บจากลูกค้าแต่ละเดือนได้รวมค่าเบี้ยประกันทรัพย์สินที่เช่า
ตัวอย่าง
รายได้ดอกเบี้ยที่บันทึกในเดือนมกราคมเท่ากับ 105 บาท คำนวณจาก
ดอกเบี้ยคำนวณจากเงินให้สินเชื่อ 100
ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน 5
รวมรายได้ดอกเบี้ยบันทึกเดือนมกราคม 105
ได้ทราบมาว่าในอนาคตรายได้ดังกล่าวจะต้องบันทึกแยกเป็น 2 รายการ คือ
ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ค่ะ และถ้าใช่ มาตรฐานดังกล่าวจะนำมาใช้ประมาณปีใดค่ะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ เพื่อที่ทางบริษัทฯจะได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
(คำถามเดือนมีนาคม 2559)
ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาเช่า (ฉบับที่เคยถือปฏิบัติมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน) จะระบุในย่อหน้าที่ 36 และ 38 ว่ากิจการต้องรับรู้สินทรัพย์ภายใต้สัญญาเช่าทางการเงินด้วยมูลค่าเงินลงทุนสุทธิในสัญญาเช่า(เงินลงทุนขั้นต้นตามสัญญาเช่าคิดลดด้วยอัตราดอกเบี้ยตามนัยของสัญญาเช่า) ซึ่งให้รวมถึงต้นทุนทางตรงเริ่มแรกด้วย
[โดยย่อหน้าที่ 4 ระบุว่า เงินลงทุนขั้นต้นตามสัญญาเช่า คือ ผลรวมของจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าการเงินกับมูลค่าคงเหลือที่ไม่ได้รับการประกันให้กับผู้ให้เช่า โดยไม่รวมค่าเช่าที่อาจเกิดขึ้น ต้นทุนการให้บริการ และภาษีที่ผู้ให้เช่าจ่ายและเรียกคืนได้จากผู้ให้เช่า]
ทั้งนี้รายได้ทางการเงินรอการรับรู้(ส่วนของดอกเบี้ย) หมายถึงผลต่างระหว่างเงินลงทุนขั้นต้นตามสัญญาเช่ากับเงินลงทุนสุทธิตามสัญญาเช่า
อย่างไรก็ตาม กิจการต้องพิจารณาก่อนว่ารายได้จากการรับประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายตามสัญญาเช่าหรือไม่ หากไม่ใช่ อาจมิได้รับรู้รวมอยู่ในเงินลงทุนขั้นต้นตามสัญญาเช่า และเงินลงทุนสุทธิตามสัญญาเช่า ดังนั้น หากกิจการพิจารณาแล้วว่ารายได้จากการรับประกันไม่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่า รายได้จากการรับประกันภัยจะมิได้รับรู้ผ่านการรับรู้ของรายได้ทางการเงิน (ดอกเบี้ย) แต่ควรให้รับรู้เป็นรายการต่างหากแยกจากส่วนของเงินที่ต้องรับรู้ตามสัญญาเช่าโดยตรง
ทั้งนี้เท่าที่ข้อมูลมีมาจนถึงปัจจุบัน หลักการดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 เรื่องสัญญาเช่า และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า ที่จะประกาศใช้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของบริษัทซึ่งมีความเข้าใจในเนื้อหาของรายการและมีข้อมูลที่มากกว่า และต้องเป็นผู้ตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของท่าน เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น