สัญญาเช่า : (บริษัท เป็นผู้เช่า) ได้เช่าช่วงที่ดินจากบริษัทในเครือ (ผู้ให้เช่า) เป็นระยะเวลา 15 ปี เ

สัญญาเช่า : (บริษัท เป็นผู้เช่า) ได้เช่าช่วงที่ดินจากบริษัทในเครือ (ผู้ให้เช่า) เป็นระยะเวลา 15 ปี เ

Q:

สัญญาเช่า :

(บริษัท เป็นผู้เช่า) ได้เช่าช่วงที่ดินจากบริษัทในเครือ (ผู้ให้เช่า) เป็นระยะเวลา 15 ปี

เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย. 2558 เป็นต้นไป โดยสัญญาระบุว่าผู้เช่าช่วงตกลงจะชำระค่าเช่าช่วงรายปี ในวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี  โดยเริ่มชำระค่าเช่าปีแรก  36,000 บาท ในวันที่ 31 ต.ค. 2558 และผู้เช่าช่วงจะวางเงินประกัน 50,000 บาท ซึ่งจะได้รับคืนเงินประกันนี้เมื่อได้ส่งมอบที่ดินคืน ทั้งนี้ผู้เช่า ไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด

ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันบริษัทผู้ให้เช่า ยังไม่มีการส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงิน และทาง บริษัทผู้เช่ายังไม่ได้ชำระเงินทั้งค่าเช่ารายปี2558 และ เงินประกัน 50,000 บาท

คำถาม :

  1. เป็นสัญญาประเภทใดในทางบัญชี
  2. รายการบันทึกบัญชีของปี 2558 มีอะไรบ้างในฝั่งผู้เช่า
  3. รายการบันทึกบัญชี ปีถัดๆไป ต้องบันทึกบัญชีหรือไม่ อย่างไร

รวมถึงทาง บ.ผู้เช่า ควรบันทึกรายการค่าเช่า เดือน ม.ค.-ส.ค. 2559 และเงินประกัน ในงบการเงินปี 2558 หรือไม่ อย่างไร

          จึงเรียนมาเพื่อโปรดชี้แนะข้อมูลที่ถูกต้อง และมาตรฐานบัญชีที่ใช้อ้างอิงสำหรับกรณีนี้เพื่อการจัดทำงบการเงินที่ถูกต้องตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

(คำถามเดือนเมษายน 2559)

A:
  1. การพิจารณาสัญญาเช่าเป็นสัญญาประเภทใดต้องพิจารณาจากข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 256-259 กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือดำเนินงานไว้ โดยศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี 

          นอกจากนี้ย่อหน้าที่ 260  กำหนดว่า การเช่าที่ดินและอาคารตามสัญญาเช่าต้องจัดประเภทเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงานในลักษณะเดียวกับการจัดประเภทสัญญาเช่าสำหรับสินทรัพย์อื่น อย่างไรก็ตาม ที่ดินมีลักษณะพิเศษคือ ตามปกติจะมีอายุการให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจไม่จำกัด หากคาดว่าจะไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปให้ผู้เช่า ณ วันสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่าจะไม่ได้รับความเสี่ยงและผลตอบแทนของความเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ในกรณีเช่นนี้ สัญญาเช่าที่ดินจะถือเป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน ดังนั้น จำนวนเงินที่จ่ายเมื่อเข้าทำสัญญาเช่าหรือการได้สิทธิการเช่าซึ่งเป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน จึงถือเป็นการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า ซึ่งต้องตัดจำหน่ายตลอดอายุสัญญาเช่าตามรูปแบบของประโยชน์ที่ได้รับ

           และย่อหน้าที่ 261 กำหนดว่า เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดประเภทสัญญาเช่า องค์ประกอบของที่ดินและอาคารที่เกิดจากสัญญาเช่าจะพิจารณาแยกจากกัน ถ้ากรรมสิทธิ์ขององค์ประกอบทั้งสองจะต้องโอนไปให้ผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า สัญญาเช่านั้นต้องจัดประเภทเป็นสัญญาเช่าการเงิน ไม่ว่าจะได้มีการทำเป็นสัญญาเดียวหรือแยกเป็นสองสัญญา เว้นแต่จะมีลักษณะอื่นที่แน่ชัดแสดงถึงการมิได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ที่เช่า โดยปกติที่ดินมีลักษณะพิเศษ คือ จะมีอายุการให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจไม่จำกัด และหากคาดว่าจะไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปให้ผู้เช่า ณ วันสิ้นสุดสัญญาเช่า ที่ดินนั้นจะจัดประเภทเป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน และอาคารจะจัดประเภทเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงาน

  1. หากพิจารณาแล้วว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงาน ในการบันทึกรายการบัญชีให้ท่านพิจารณาตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ดังนี้
  • สำหรับสัญญาเช่าการเงิน ดูย่อหน้าที่ 264-271
  • สำหรับสัญญาเช่าดำเนินงาน ดูย่อหน้าที่ 272-273 โดยย่อหน้าที่ 272 กำหนดว่า
    ผู้เช่าต้องรับรู้จำนวนเงินที่จ่ายตามสัญญาเช่าดำเนินงาน (ซึ่งไม่รวมต้นทุนในการให้บริการ เช่น ค่าประกันภัยและค่าบำรุงรักษา) เป็นค่าใช้จ่ายตามวิธีเส้นตรงตลอดอายุสัญญาเช่า นอกจากว่าจะมีเกณฑ์อื่นที่เป็นระบบ ซึ่งสะท้อนถึงระยะเวลาที่ผู้เช่าได้รับประโยชน์ได้ดีกว่า แต่ข้อสมมติในการจัดทำงบการเงินกำหนดว่างบการเงินจัดทำขึ้นโดยข้อสมมติตามเกณฑ์คงค้าง ดังนั้นหากท่านพิจารณาแล้วว่าเป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน กิจการสามารถรับรู้ค่าเช่าจ่ายด้วยเกณฑ์คงค้างไปตลอดอายุสัญญาเช่านับตั้งแต่วันที่เริ่มเช่า แม้ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้จากผู้ให้เช่า (เช่น รับรู้ค่าเช่าเดือนละ
    3,000 บาทตามเกณฑ์คงค้างไปตลอดอายุสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่กิจการเริ่มเช่า)
  1. กรณีของเงินประกันนั้น หากกิจการยังไม่ได้จ่ายชำระเงินประกัน กิจการไม่ควรรับรู้ "บัญชีสินทรัพย์เงินประกัน” ในงบการเงิน

          ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดที่มากกว่า เนื่องจากผู้สอบบัญชีจะต้องเป็นผู้แสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงินที่ท่านจัดทำขึ้นดังกล่าว

โพสต์เมื่อ :
24 ต.ค. 2560 16:02:51
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
22 พ.ย. 2567 12:28:47
โดย :
 12393
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์