การตัดหนี้สูญ :
เนื่องจากกิจการต้องการตัดหนี้สูญจากเจ้าหนี้ 3 ราย รายละหนึ่งล้านถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท รวมยอดลูกหนี้ทั้งสิ้นประมาณสามล้านเจ็ดแสนบาท ซึ่งกิจการได้ตั้งยอดหนี้สูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตั้งแต่ พ.ศ. 2552 กิจการไม่เคยดำเนินการส่งฟ้องศาลเนื่องจากกิจการเล็งเห็นแล้วว่าจะไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องร้องและเนื่องจากในระหว่าง ปี 2558 กรมสรรพากรได้ออกพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595 ) พ.ศ. 2558 ให้สิทธิแก่บริษัทในการได้รับยกเว้นการตรวจสอบทางภาษีและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นกิจการจึงมีความต้องการที่จะตัดหนี้สูญยอดทั้งสามล้านเจ็ดแสนบาทนี้
นโยบายบัญชีที่สำคัญของกิจการ
อยากสอบถามว่าในฐานะผู้ทำบัญชีของกิจการ เพื่อเป็นการตัดหนี้สูญนี้ จะเขียนหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างไร เช่น เขียนว่า ภาระผูกพันค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญประมาณการหนี้สงสัยจะสูญ แสดงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 กิจการไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาลเนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง และคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า สามารถหาข้อมูลได้ จึงนำมาใช้กับการจัดทำและการนำเสนองบการเงิน
(คำถามเดือนเมษายน 2559)
โดยปกติ กิจการสามารถตัดหนี้สูญได้เมื่อกิจการพิจารณาว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้รายดังกล่าวได้ค่อนข้างแน่นอน ดังที่ระบุในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 83 ดังนี้
การตัดจำหน่ายหนี้สูญ
83. หากลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้เมื่อครบกำหนดแล้ว และกิจการได้มีการดำเนินการทวงถามหนี้จากลูกหนี้ จนถึงที่สุดแล้ว และคาดหมายได้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้ ให้กิจการจำหน่ายลูกหนี้ ออกจากบัญชีและปรับลดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เรื่องของการดำเนินคดี เป็นเพียงเรื่องในทางกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ของการตัดหนี้สูญ กิจการไม่จำเป็นต้อง(แต่มิได้ห้ามที่จะ)อ้างถึงการดำเนินคดีในทางกฎหมาย
นอกจากนี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะระบุในย่อหน้าที่ 85 เกี่ยวกับการเปิดเผยลูกหนี้ดังนี้
85 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
85.1 มูลค่าหนี้สูญที่ตัดจำหน่ายระหว่างงวด
85.2 หนี้สูญได้รับคืนสำหรับงวด
85.3 จำนวนและรายละเอียดของลูกหนี้ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ดังนั้น กิจการต้องเปิดเผยรายละเอียดขั้นต่ำเกี่ยวกับหนี้สูญดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 85 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กิจการเลือกใช้
นอกจากนี้กิจการสามารถเลือกเปิดเผยข้อมูลทางการเงินได้มากกว่าที่มาตรฐานฯกำหนดตามความประสงค์ของกิจการเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งบการเงิน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิดในสาระสำคัญ
ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดที่มากกว่า เนื่องจากผู้สอบบัญชีจะต้องเป็นผู้แสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงินที่ท่านจัดทำขึ้นดังกล่าว