งบการเงินนิติบุคคลอาคารชุด :
ข้อ 1) ข้อมูลเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด และประเด็นคำถาม
ผู้ทำบัญชีบันทึก การซื้อสินทรัพย์ถาวร เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายใน 1 ปี ตัวอย่างเช่น
งบปี 54 ซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ 300,000 บ. และเครื่องออกกำลังกาย 1,000,000 บ.
งบบี 57 ซื้อหม้อแปลง ราคา 1,500,0000 บ.
งบบี 58 ซื้อหม้อแปลง ราคา 3,200,000 บ.
ข้อมูลเพิ่มเติม : รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีจำนวนรายการและจำนวนเงินเท่ากันทุกปี ตั้งแต่ก่อนปี 2554 และไม่มีรายการทรัพย์สินถาวรใหม่ เพราะตัดเป็นค่าใช้จ่ายในปีที่ซื้อ 100% การบันทึกบัญชีข้างต้นผู้ทำบัญชีแจ้งว่าเป็นการจัดทำตามเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) จึงขอสอบถามว่าสามารถใช้กับงบการเงินของนิติบุคคลอาคารชุดได้หรือไม่?
ข้อ 2) ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ระบุนโยบายการบัญชีที่สำคัญว่า
การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย
นิติบุคคลฯ อาคารชุดรับรู้รายได้ ในอัตราและระยะเวลาที่กำหนดตามสัดส่วนของการใช้พื้นที่ ตามเกณฑ์เงินสด
จึงขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อ ความรู้ และความเข้าใจที่ครอบคลุม ครบถ้วนขึ้น
(คำถามเดือนเมษายน 2559)
ข้อ 1) พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
มาตรา ๓๘/๑ ให้ นิติบุคคลอาคารชุดจัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบสิบสองเดือน โดยให้ถือว่าเป็นรอบปีในทางบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น งบดุลตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการแสดงจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินของนิติบุคคลอาคารชุด กับทั้งบัญชีรายรับรายจ่าย และต้องจัดให้ มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
ทั้งนี้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมิได้ระบุว่าต้องจัดทำบัญชีด้วยมาตรฐานการบัญชี หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใด จึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการที่ต้องเลือกมาตรฐานฯ หรือนโยบายการบัญชีที่จะใช้จัดทำงบดุล และบัญชีรายรับรายจ่ายนั้น
ต่อข้อถามของท่าน มิได้ระบุว่านิติบุคคลท่านเลือกใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับใดหรือนโยบายการบัญชีใดในการจัดทำ จึงไม่สามารถตอบได้เป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ขอให้ข้อสังเกตโดยรวมดังนี้
ในกรณีที่นิติบุคคลท่านเลือกใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ตามที่ผู้สอบบัญชีได้กล่าวไว้ในส่วนสุดท้ายของรายงานผู้สอบบัญชี)
ย่อหน้าที่ 3 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับดังกล่าวกำหนดว่าให้ใช้เกณฑ์คงค้าง และ การดำเนินงานต่อเนื่องในการจัดทำงบการเงิน ซึ่งไม่ใช่ cash basis ตามที่ผู้ทำบัญชีอ้างไว้
นอกจากนี้ ย่อหน้าที่ 123 กำหนดให้รับรู้สินทรัพย์ที่มีตัวตนอยู่ภายใต้หมวดที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หากกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
นิติบุคคลต้องปฏิบัติตามย่อหน้าที่ 134-147 ว่าด้วยการรับรู้มูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ (การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยวิธีราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสม และค่าเผื่อการลดลงของมูลค่า)
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ กำหนดให้การจัดทำงบการเงินอยู่ภายใต้ลักษณะเชิงคุณภาพของข้อมูลในงบการเงินดังที่กล่าวในย่อหน้าที่ 19-24 ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเชิงคุณภาพพื้นฐาน หรือลักษณะเชิงคุณภาพเสริม รวมถึง ข้อควรพิจารณาอื่น เช่น ความมีสาระสำคัญของข้อมูลที่จัดทำ
ในบางกรณี ฝ่ายบริหารของกิจการอาจเลือกใช้นโยบายการบัญชีที่ต่างออกไป แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการของมาตรฐานฯที่เลือกใช้ และยังคงทำให้งบการเงินอยู่ภายใต้ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงินต่อไป
ดังนั้นในกรณีนี้ ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลมากกว่ารวมถึงสอบถามถึงนโยบายการบัญชีที่นิติบุคคลเลือกใช้ในการจัดทำงบการเงิน และการแสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีว่านิติบุคคลดังกล่าวใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใดในการจัดทำงบการเงิน จึงจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่า นอกจากนี้ท่านสามารถอ่านหลักการมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี http://www.fap.or.th/NPAEs.html
ข้อ 2)
ตามข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมิได้กล่าวถึงนโยบายการบัญชีที่ใช้ในการจัดทำงบการเงิน รวมถึงมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เลือกใช้ โดยระบุไว้เพียงว่า รายได้รับรู้โดยใช้เกณฑ์เงินสด (หมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1) ทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าการจัดทำบัญชีนั้นเป็นไปตามหลักการใด และถูกต้องหรือไม่เพียงใด
โดยปกติผู้ทำบัญชีเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดทำบัญชี และจัดทำรายงานทางการเงิน เพื่อให้ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงิน ดังนั้น ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในรายละเอียดและข้อมูลมากกว่า เพื่อให้ได้รับคำตอบหรือคำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น