การบันทึกบัญชีทั่วไป : เนื่องด้วย นิติบุคคลอาคารชุดฯ เป็นนิติบุคคลฯ ตาม พรบ.อาคารชุดฯ และไม่เป็นองค์

การบันทึกบัญชีทั่วไป : เนื่องด้วย นิติบุคคลอาคารชุดฯ เป็นนิติบุคคลฯ ตาม พรบ.อาคารชุดฯ และไม่เป็นองค์

Q:

การบันทึกบัญชีทั่วไป :

เนื่องด้วย นิติบุคคลอาคารชุดฯ เป็นนิติบุคคลฯ ตาม พรบ.อาคารชุดฯ และไม่เป็นองค์กร ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 และ 66 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น

          โครงการฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด กับสำนักงานที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นภาระของเจ้าของโครงการ หลังจากนั้นนิติบุคคลอาคารชุดฯ ไม่มีทั้งรายรับและรายจ่ายใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลอาคารชุดฯ ซึ่งโครงการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด  จนถึงวันที่  19 สิงหาคม 2558  นิติบุคคลอาคารชุดฯ ได้ดำเนินการเปิดบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดฯ เพื่อเป็นการเก็บรักษาเงิน และเบิกจ่ายเงิน ค่าส่วนกลาง และค่ากองทุน ตาม มาตรา 18 แห่ง พรบ.อาคารชุดฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการฯ

          ภายหลัง นิติบุคคลฯ ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมฯ ขึ้น และได้แถลงในที่ประชุมใหญ่ว่า เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดฯ ได้เริ่มเปิดบัญชีและเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา จึงให้ถือว่า รอบปีบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – 31 กรกฎาคม 2559

          เมื่อครบรอบปีบัญชีที่ได้แถลงไว้ในที่ประชุมใหญ่ฯ นิติบุคคลฯ จึงดำเนินการส่งเอกสารเพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชีดำเนินการต่อไป แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้แจ้งไว้ว่า จะยึดรอบทางปีบัญชีจาก หนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เป็นวันเริ่มนับรอบปีทางบัญชี จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบบัญชีที่เกินกว่า 12 รอบเดือนได้ 
          จึงเรียนสอบถามท่าน (ฝ่ายมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ) ในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. นิติบุคคลอาคารชุดฯ สามารถให้นับรอบปีบัญชีตามคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – 31 กรกฎาคม 2559 ได้หรือไม่

  2. หากประเด็นในข้อที่ 1 กระทำได้ ผู้ตรวจสอบบัญชี นั้น จะต้องดำเนินเซ็นงบดุลตามรอบปีบัญชีที่ได้แถลงไว้ในที่ประชุมใหญ่ ใช่หรือไม่

  3. หากประเด็นในข้อที่ 1 และ 2 กระทำได้ ผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถระบุในหมายเหตุของงบดุลได้หรือไม่ว่า นับตั้งแต่วันจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นั้น มิได้มีรายรับ-รายจ่าย อันเกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลอาคารชุดฯ และให้เริ่มนับรอบปีทางบัญชี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – 31 กรกฎาคม 2559 ตามคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ปี 2558”

  4. หากประเด็นในข้อที่ 1 กระทำมิได้ จึงเรียนสอบถามว่า นิติบุคคลอาคารชุดฯ จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงรอบปีบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดฯ ตามผู้ตรวจสอบบัญชี อันขัดต่อคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ใช่หรือไม่

  5. หากประเด็นในข้อที่ 4 กระทำได้ คือ การเปลี่ยนรอบปีบัญชีตามที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้กล่าวมา หลังจากนั้นนิติบุคคลอาคารชุดฯ ได้แถลงในที่ประชุมใหญ่ครั้งหน้า แล้วเจ้าของร่วมส่วนใหญ่ให้ดำรงรอบปีบัญชีเดิม เพื่อสะดวกต่อการจัดเก็บค่าส่วนกลาง ค่ากองทุน ตามมาตรา 18 พรบ.อาคารชุด นั้นฯ นิติบุคคลฯ ควรดำเนินการยึดถือหลักการใดในการดำเนินการต่อไป
    1.           จึงเรียนมาเพื่อขอสอบถามและโปรดชี้แนะแนวทาง จักขอบคุณยิ่ง

    (คำถามเดือนกันยายน 2559)

    A:

    ขออนุญาตตอบคำถามท่านทีละข้อดังนี้

    1. นิติบุคคลอาคารชุดฯ สามารถให้นับรอบปีบัญชีตามคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – 31 กรกฎาคม 2559 ได้หรือไม่

    พรบ.อาคารชุด ฉบับที่  4 พ.ศ.2551 กำหนดในมาตราที่ 23 ดังนี้

              มาตรา 23 ให้ เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 38/1 มาตรา 38/2 และมาตรา 38/3 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ว่า

              “มาตรา 38/1 ให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบสิบสองเดือน โดยให้ถือว่าเป็นรอบปีในทางบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น"

              ในพรบ.ฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้งบการเงินของนิติบุคคลจัดทำตามปีปฏิทิน เพียงแต่กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบปีบัญชีสิบสองเดือน โดยให้ถือว่าเป็นรอบปีในทางบัญชีของนิติบุคคลนั้น อย่างไรก็ตาม รอบปีบัญชีที่กำหนดต้องเป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นๆ ดังนั้นอาจต้องพิจารณาในตัวข้อบังคับของนิติบุคคลว่าได้มีการระบุในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนหรือไม่

              ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีหรือนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่ออกกฎหมายพรบ. นิติบุคคลอาคารชุด ดังกล่าว เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น

    1. หากประเด็นในข้อที่ 1 กระทำได้ ผู้ตรวจสอบบัญชี นั้น จะต้องดำเนินเซ็นงบดุลตามรอบปีบัญชีที่ได้แถลงไว้ในที่ประชุมใหญ่ ใช่หรือไม่

    พรบ. นิติบุคคลอาคารชุด ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 มาตรา 38/1 วรรค 2

    งบดุลตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการแสดงจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินของนิติบุคคลอาคารชุด กับทั้งบัญชีรายรับรายจ่าย และต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ โดยเจ้าของร่วมภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

    ในพรบ. ดังกล่าวมิได้กำหนดให้งบการเงินของนิติบุคคลจัดทำตามปีปฏิทิน เพียงแต่กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบปีบัญชีสิบสองเดือน โดยรอบปีบัญชีต้องเป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้น และงบการเงินนั้นต้องมีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้พรบ. ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รอบปีบัญชียาวนานเกินกว่า 12 เดือน

    1. หากประเด็นในข้อที่ 1 และ 2 กระทำได้ ผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถระบุในหมายเหตุของงบดุลได้หรือไม่ว่า นับตั้งแต่วันจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นั้น มิได้มีรายรับ-รายจ่าย อันเกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลอาคารชุดฯ และให้เริ่มนับรอบปีทางบัญชี ตั้งแต่วันที่1 สิงหาคม 2558 ถึง 31 กรกฎาคม 2559 ตามคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ปี 2558

              ในกรณีดังกล่าว หากต้องการปิดรอบปีบัญชีเป็นวันที่ 1 สิงหาคม - 31 กรกฎาคมของทุกปี ตาม พรบ. นิติบุคคลอาคารชุด ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 มาตรา 36 กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลมีหน้าที่จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน และต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันต่อเนื่องกัน

              ดังนั้นนิติบุคคลต้องมีหน้าที่จัดให้มีการทำบัญชี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนนิติบุคคล (10 มิถุนายน 2558) จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 เป็นรอบบัญชีแรก (ไม่เต็มปี) เพื่อให้รายการรับและจ่ายของรอบตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2558 ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากพรบ.ฉบับดังกล่าวไม่อนุญาตให้รอบปีบัญชียาวนานกว่าสิบสองเดือน

              หลังจากนั้น จึงดำเนินการปิดรอบปีบัญชีเป็นวันที่ 1 สิงหาคม - 31 กรกฎาคมของทุกปี ตามที่ข้อบังคับกำหนด หากนิติบุคคลไม่ได้จัดให้มีการจัดทำบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องปรึกษานักกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่านิติบุคคลดังกล่าวปฏิบัติไม่เป็นไปตามพรบ. นิติบุคคลอาคารชุดหรือไม่ หากนักกฎหมายพิจารณาแล้วว่านิติบุคคลอาคารชุดปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องพิจารณาตามข้อกำหนดของมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250  เพื่อพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบต่อการแสดงความเห็นในรายงานสอบบัญชีหรือไม่

    1. หากประเด็นในข้อที่ 1 กระทำมิได้ จึงเรียนสอบถามว่า นิติบุคคลอาคารชุดฯ จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงรอบปีบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดฯ ตามผู้ตรวจสอบบัญชี อันขัดต่อคำแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ใช่หรือไม่ หากประเด็นข้อ 1 ไม่ขัดต่อพรบ. นิติบุคคลอาคารชุด แล้ว นิติบุคคลอาคารชุดนั้นไม่ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงรอบบัญชี เพียงแต่นิติบุคคลอาคารชุดต้องมีหน้าที่จัดให้มีการจัดทำบัญชีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งผู้สอบบัญชีต้องประเมินว่านิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ตามมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด โดยสามารถขอคำปรึกษาจากนักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    2. หากประเด็นในข้อที่ 4 กระทำได้ คือ การเปลี่ยนรอบปีบัญชีตามที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้กล่าวมา หลังจากนั้นนิติบุคคลอาคารชุดฯ ได้แถลงในที่ประชุมใหญ่ครั้งหน้า แล้วเจ้าของร่วมส่วนใหญ่ให้ดำรงรอบปีบัญชีเดิม เพื่อสะดวกต่อการจัดเก็บค่าส่วนกลาง ค่ากองทุน ตามมาตรา 18 พรบ.อาคารชุด นั้นฯ นิติบุคคลฯ ควรดำเนินการยึดถือหลักการใดในการดำเนินการต่อไป หากการกำหนดรอบปีบัญชีขึ้นอยู่กับข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด และการประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้นนิติบุคคลต้องยึดถือหลักการใน พรบ. นิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว

    ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของนิติบุคคลท่านอีกครั้งและนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของท่าน และมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่า

    โพสต์เมื่อ :
    25 ต.ค. 2560 11:34:21
    โดย :
    แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
    25 พ.ย. 2567 4:06:00
    โดย :
     16841
    ผู้เข้าชม
    สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์