การบันทึกบัญชีทั่วไป :
เนื่องจากบริษัท ประกอบกิจการ food court มีประเด็นการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับประเภท ของจาน ชาม ช้อน กาละมัง ทางบริษัทต้องการตัดจำหน่ายภายใน 2 ปี (ถือเป็นสินทรัพย์ระยะสั้น) ได้หรือไม่ หรือควรบันทึกบัญชีสำหรับของประเภทนี้ เป็นสินทรัพย์ หรือ ค่าใช้จ่าย อย่างไร และควรใช้ชื่อบัญชีว่าอย่างไร จึงจะถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนด จึงสอบถามมาเพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติต่อไป
(คำถามเดือนตุลาคม 2559)
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ได้ระบุคำนิยามของคำว่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ดังนี้
ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนซึ่งเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
1) มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต ในการจำหน่าย สินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่า หรือเพื่อใช้ในการบริหารงาน และ
2) คาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลา
ดังนั้นหากสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าลักษณะทั้งสองข้อข้างต้นจะต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ โดยต้องรับรู้และวัดมูลค่าตามย่อหน้าที่ 30 ดังนี้
30 ภายหลังจากการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ กิจการต้องแสดง รายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์นั้นด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสม และผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมของสินทรัพย์
หรือตามย่อหน้าที่ 123 ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAE)ซึ่งระบุว่า
123 ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนที่กิจการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต ในการจําหน่ายสินค้า ให้บริการ ให้เช่าหรือใช้ในการบริหารงาน ซึ่งกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์ มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
ดังนั้นกิจการต้องคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยตามอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์(ระยะเวลาที่กิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์ไว้ใช้)โดยยึดหลักการในย่อหน้าที่ 56 และ 57 ของมาตรฐาน
การบัญชี ฉบับที่ 16 (หรือย่อหน้าที่ 144 ของ TFRS for NPAE) ซึ่งในทางปฏิบัติ อายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์อาจน้อยกว่าอายุการให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่แท้จริงของสินทรัพย์ได้ เช่น หากอุปกรณ์สามารถใช้งานได้จริง 4 ปี แต่กิจการตั้งใจจะใช้ประโยชน์เพียง 2 ปี และ
ทำการจำหน่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ใหม่ ดังนั้น อายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณค่าเสื่อมราคาเท่ากับ 2 ปี
ดังนั้นขอให้ท่านรับรู้รายการดังกล่าวที่ท่านสอบถามโดยพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขตามย่อหน้าดังกล่าวหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
อย่างไรก็ตาม หากสินทรัพย์ดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้ไม่เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขตามย่อหน้าดังกล่าว กิจการสามารถรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายได้ในทางบัญชี ตามที่ระบุถึง
คำนิยามของค่าใช้จ่ายไว้ในกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน
สำหรับชื่อบัญชีขอให้ท่านศึกษาตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน และประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อให้การแสดงชื่อบัญชีเป็นไปตามหลักการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
ทั้งนี้ ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และข้อมูลในประเด็นดังกล่าวอย่างครบถ้วน