การเลิกกิจการ :
ปัญหาเรื่องที่ 1 งบการเงินระหว่างการชำระบัญชี
สำนักงานได้รับงานตรวจสอบธุรกิจที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชี โดยการชำระบัญชีได้ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปี 2559 เนื่องจากติดภาระทางด้านภาษีกับกรมสรรพากร อย่างไรก็ตามในปีที่ 2 และ 3 บริษัทฯ โดยที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น
ผู้ชำระบัญชีได้เสนอให้ที่ประชุมอนุมัติจ่ายคืนทุน หุ้นละ 50 และ 45 บาท ตามลำดับ ทำให้หุ้นที่จดทะเบียนและจ่ายชำระแล้วเหลือมูลค่าหุ้นละ 5 บาท ในปีปัจจุบัน (2559)
สำนักงานขอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
ปัญหาเรื่องที่ 2 ธุรกิจไม่ได้ดำเนินการปิดบัญชีมานาน 2 ปี
ลูกค้าของสำนักงานไม่ได้ดำเนินการปิดบัญชีมานานกว่า 2 ปี จึงได้ส่งมอบเอกสารให้สำนักงานดำเนินการตรวจสอบเพื่อเสนอต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ กรมสรรพากร สำนักงานสามารถดำเนินการเสนองบการเงินได้ตามปกติ ใช่หรือไม่(คำถามเดือนมีนาคม 2560)
จากกรณีที่ท่านสอบถาม ตอบเป็นแต่ละข้อคำถามดังนี้
ปัญหาที่ 1 งบการเงินระหว่างการชำระบัญชี
การพิจารณาว่าจะออกรายงานของผู้สอบบัญชีว่าแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือแสดงความเห็นในแบบที่เปลี่ยนไป ท่านต้องพิจารณาตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 700 (ปรับปรุง) เรื่อง การแสดงความเห็นและการรายงานต่องบการเงิน และมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 705 (ปรับปรุง) เรื่อง การแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่อย่างไรก็ดี ท่านยังต้องพิจารณาถึงข้อกังวลอื่น เช่น มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดทุนจดทะเบียนให้อย่างถูกต้องและมิได้เปิดเผยสถานการณ์ดังกล่าวในงบการเงิน เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการแสดงความเห็น ตามที่กำหนดไว้โดยย่อหน้า 26 และ 27 ของมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250 เรื่อง การพิจารณากฎหมายและข้อบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน
ทั้งนี้ การลดทุนจดทะเบียนจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรา 1224 - 1228 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น มาตรา 1225 กำหนดว่า
"มาตรา 1225 อันทุนของบริษัทนั้นจะลดลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่"
ปัญหาที่ 2 ธุรกิจไม่ได้ดำเนินการปิดบัญชีมานาน 2 ปี
ในส่วนของการทำบัญชี และการสอบบัญชี ผู้บริหารของกิจการควรจัดให้มีการทำบัญชี และนำส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงิน ตามข้อกำหนดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร
ในกรณีที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมากิจการยังมิได้จัดทำบัญชีและนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร กิจการสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทั้งสองหน่วยงานได้ โดยสามารถศึกษากฎระเบียบและข้อบังคับในการนำส่งงบการเงินและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลังได้โดยตรงจากทั้งสองหน่วยงาน