มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (IFRS for SMEs) :
"ถ้าบริษัท ก เป็นบริษัท NPAEs (แบบซับซ้อน) โดยเป็นบริษัทร่วม ของบริษัท ข ซึ่งเป็นบริษัท PAEs" ซึ่งมีคำถาม ดังต่อไปนี้
1. บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) จำเป็นต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs หรือไม่
2. หากบริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs ต้องใช้ทั้งฉบับ หรือ เลือกใช้บางฉบับที่มีผลกระทบต่อข้อมูลที่บริษัท ข (PAEs) นำไปใช้เปิดเผยใน
งบการเงิน ดังนี้
2.1 ผลประโยชน์ของพนักงาน บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) จำเป็นต้องจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือไม่
2.2 หากบริษัท ข (PAEs) วัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยใช้การประเมินมูลค่าจากผู้ประเมินราคาอิสระ บริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) ต้องวัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยใช้การประเมินมูลค่าจาก
ผู้ประเมินอิสระเช่นเดียวกับ บริษัท ข (PAEs) หรือไม่ หรือ บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยใช้ราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือราคาที่มีการประกาศซื้อขาย ฯลฯ ได้หรือไม่ เนื่องจากการจ้างผู้ประเมินอิสระนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
2.3 ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำเป็นต้องจัดทำ หรือไม่
3. ถ้าบริษัท ก ซึ่งเป็น (NPAEs แบบซับซ้อน) ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs แล้วบริษัทย่อยหรือร่วมของ บริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) ซึ่งเป็น NPAEs แบบไม่ซับซ้อน ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs ด้วยหรือไม่ และหากต้องใช้ TFRS for PAEs เหมือน บริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) แล้วสามารถเลือกทำแค่บางฉบับตามคำถามในข้อ 2 ได้หรือไม่
4. ถ้าบริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) ใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs แล้วในอนาคต บริษัท ก (NPAE) ไม่ได้เป็นบริษัทร่วมของ บริษัท ข (PAEs) แล้ว บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) สามารถกลับมาใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs ได้หรือไม่
(คำถามเดือนมีนาคม 2560)
จากกรณีที่ท่านสอบถาม สามารถตอบในแต่ละข้อคำถาม ดังนี้
1. บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) จำเป็นต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs หรือไม่ :
ไม่จำเป็น ในปัจจุบันนี้ บริษัท ก ยังสามารถเลือกใช้ TFRS for NPAEs ได้จนถึงปี 2560สำหรับปี 2561 บริษัท ก สามารถเลือกได้ว่าจะใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs (แบบเต็มรูปแบบ) หรือ TFRS for PAEs ก็ได้ แต่ถ้าเลือกฉบับใดแล้วต้องเลือกถือปฏิบัติทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง
2. ถ้าบริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs ต้องใช้ทั้งฉบับ หรือ เลือกทำแค่บางฉบับที่มีผลกระทบต่อข้อมูลที่บริษัท ข (PAEs) นำไปใช้เปิดเผยใบงบการเงิน :
ในช่วงก่อนปี 2560 ที่ยังไม่มี TFRS for SMEs หากบริษัท ก เลือกใช้ TFRS for PAEs จะต้องใช้ทุกฉบับหรือหากบริษัท ก เลือกใช้ TFRS for NPAEs จะสามารถถือปฏิบัติ TFRS for PAEs ได้สองฉบับคือ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ และ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน
ในช่วงปี 2561 เป็นต้นไป บริษัท ก สามารถเลือกได้ว่าจะใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs (แบบเต็มรูปแบบ) หรือ TFRS for PAEs ก็ได้ แต่ถ้าเลือกฉบับใดแล้วต้องเลือกถือปฏิบัติทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ในทางปฏิบัติ บริษัทที่เป็น PAEs อาจไม่บังคับให้บริษัทในเครือใช้ TFRS for PAEs ตามก็ได้ แต่ในการนำงบการเงินมารวม หรือรับรู้ส่วนได้เสีย จะต้องแปลงงบการเงินของบริษัทในเครือเหล่านั้นให้มีเกณฑ์การรับรู้ วัดมูลค่าและการเปิดเผยเช่นเดียวกับ TFRS for PAEs
2.1 ผลประโยชน์ของพนักงาน บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) จำเป็นต้องจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือไม่ :
ผลประโยชน์ของพนักงานที่วัดมูลค่าด้วยหลักการของคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ไม่มีมาตรฐานฯ ฉบับใดบังคับให้ใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เพียงแต่ TFRS for PAEs และ TFRS for SMEs สำหรับกิจการที่ซับซ้อนกำหนดให้คำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย และสนับสนุนให้ใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเท่านั้น (หากบริษัทสามารถคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเองได้ ก็สามารถคำนวณเองได้)
2.2 หากบริษัท ข (PAEs) วัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยใช้การประเมินมูลค่าจากผู้ประเมินราคาอิสระ บริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) ต้องวัดมูลค่า
ยุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยใช้การประเมินมูลค่าจากผู้ประเมินอิสระเช่นเดียวกับบริษัท ข (PAEs) หรือไม่ หรือบริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยใช้ราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือราคาที่มีการประกาศซื้อขาย ฯลฯ ได้หรือไม่ :
ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ไม่มีมาตรฐานฯ
ฉบับใดบังคับให้ใช้ผู้ประเมินราคาอิสระ เพียงแต่ TFRS for PAEs สนับสนุนให้ใช้เท่านั้น ดังนั้น จึงอาจวัดมูลค่ายุติธรรมด้วยวิธีอื่นได้ ทั้งนี้ บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) ต้องใช้นโยบายการบัญชีเช่นเดียวกับบริษัท ข (PAEs) ในการจัดทำงบการเงินรวม
2.3 ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำเป็นต้องจัดทำ หรือไม่ :
ในช่วงก่อนปี 2560 ที่ยังไม่มี TFRS for SMEs หากบริษัท ก เลือกใช้ TFRS for PAEs จะต้องจัดทำภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ หรือหากบริษัท ก เลือกใช้ TFRS for NPAEs อาจถือปฏิบัติแต่ไม่เป็นการบังคับให้ใช้ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่12 เรื่อง ภาษีเงินได้
ในช่วงหลังปี 2562 กิจการต้องจัดทำภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ไม่ว่าจะใช้ TFRS for PAEs หรือ TFRS for SMEs สำหรับกิจการที่ซับซ้อน
3. ถ้าบริษัท ก ซึ่งเป็น (NPAEs แบบซับซ้อน) ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs แล้วบริษัทย่อยหรือร่วมของบริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) ซึ่งเป็น NPAEs แบบไม่ซับซ้อน ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs ด้วยหรือไม่ และหากต้องใช้ TFRS for PAEs เหมือน บริษัท ก (NPAE แบบซับซ้อน) แล้วสามารถเลือกทำแค่บางฉบับตามคำถามในข้อ 2 ได้หรือไม่ :
บริษัทย่อยหรือร่วมของ บริษัท ก ให้ถือเป็นบริษัทที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับบริษัท ก เนื่องจากถือเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างการจัดการที่มีความซับซ้อน (โครงสร้างการจัดการแบบกลุ่มกิจการ) ดังนั้น ให้ดูคำตอบสำหรับกิจการ NPAEs ที่ซับซ้อนตามข้อ 1 และ 2
4. ถ้าบริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) ใช้มาตรฐาน TFRS for PAEs แล้วในอนาคต บริษัท ก (NPAE) ไม่ได้เป็นบริษัทร่วมของ บริษัท ข (PAEs) แล้ว บริษัท ก (NPAEs แบบซับซ้อน) สามารถกลับมาใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs ได้หรือไม่ :
ในกรณีที่ NPAE ซับซ้อนเคยเลือกใช้ TFRS for PAEs ไปแล้ว และต่อมาต้องการเปลี่ยนกลับมาใช้ TFRS for SMEs กรณีนี้ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรฐานฯ แต่ในทางปฏิบัติมักไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากการปฏิบัติตาม TFRS for PAEs จะทำให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับประโยชน์มากกว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานฯฉบับอื่น ดังนั้นหากเปลี่ยนจาก TFRS for PAEs เป็นฉบับอื่นจะทำให้งบการเงินอาจมีประโยชน์หรือมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจต่อผู้ใช้งบการเงินลดลง จึงมักไม่เป็นที่นิยม อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการระบุไว้ชัดเจนในมาตรฐานฯ บริษัทต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้มาตรฐานฯให้เหมาะสมกับกิจการ และต้องเปิดเผยเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกใช้มาตรฐานดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินด้วย
ทั้งนี้ ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกลุ่มกิจการท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลมากกว่า เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เนื่องจากการเลือกใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินนั้น เป็นดุลยพินิจของบริษัท แต่ผู้สอบบัญชีต้องตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินว่าถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่