ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ : ขอสอบถามเกี่ยวกับ ผลกระทบจากการเปลี่ยน

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ : ขอสอบถามเกี่ยวกับ ผลกระทบจากการเปลี่ยน

Q:

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ :

ขอสอบถามเกี่ยวกับ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1. กรณีที่กิจการจ่ายเงินมัดจำค่าสินค้าไปต่างประเทศ และ ณ สิ้นปี กิจการยังไม่ได้รับสินค้า รายการดังกล่าวต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี หรือไม่

(คำถามเดือนมีนาคม 2560)

A:

ในกรณีที่กิจการมีรายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 21 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ย่อหน้าที่ 23 และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ กำหนดไว้ในย่อหน้าที่ 386 ว่า 

386 ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานแต่ละงวด

386.1 รายการที่เป็นตัวเงินซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศให้แปลงค่าโดยใช้อัตราปิด 
386.2 รายการที่ไม่เป็นตัวเงินซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งบันทึกไว้ด้วยราคาทุนเดิมให้แปลงค่าโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการ 

ดังนั้น กิจการต้องพิจารณาก่อนว่า รายการเงินมัดจำเพื่อซื้อสินค้า เป็นรายการที่เป็นตัวเงินหรือรายการที่ไม่เป็นตัวเงิน โดยมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 21 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ย่อหน้าที่ 16 กำหนดลักษณะที่สำคัญของรายการที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินไว้ ดังนี้

16 ลักษณะสำคัญของรายการที่เป็นตัวเงิน คือ สิทธิที่จะได้รับ (หรือภาระที่จะส่งมอบ) 

จำนวนเงินที่กำหนดได้แน่นอนหรือจำนวนเงินที่สามารถทราบได้ในจำนวนหน่วยของสกุลเงิน ตัวอย่างดังกล่าวรวมถึงเงินบำนาญและ ผลประโยชน์อื่นของพนักงานที่จะต้องจ่ายเป็นเงินสด ประมาณการหนี้สินที่ต้องชำระด้วยเงินสด และเงินสดปันผลซึ่งบันทึกเป็นหนี้สิน ในทำนองเดียวกัน สัญญาที่จะได้รับ (หรือส่งมอบ) ตราสารทุนของกิจการในจำนวนหน่วยที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หรือ สัญญาที่จะได้รับ (หรือส่งมอบ) สินทรัพย์ในจำนวนเงินซึ่งอาจเปลี่ยนแปลง โดยมูลค่ายุติธรรมที่จะได้รับ (หรือส่งมอบ) เท่ากับจำนวนเงินคงที่หรือจำนวนหน่วยของสกุลเงิน ซึ่งสามารถกำหนดได้ถือเป็นรายการที่เป็นตัวเงิน ในทางตรงกันข้ามลักษณะสำคัญของรายการที่มิใช่ตัวเงิน คือ การไม่มีสิทธิที่จะได้รับ (หรือภาระที่จะส่งมอบ) จำนวนเงินที่กำหนดได้แน่นอนหรือจำนวนเงินที่สามารถทราบได้ในจำนวนหน่วยของสกุลเงิน ตัวอย่างดังกล่าวรวมถึง เงินจ่ายล่วงหน้าสำหรับสินค้าและบริการ (เช่น ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า) ค่าความนิยม สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน สินค้าคงเหลือ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และประมาณการหนี้สินต่างๆ ที่ต้องชำระด้วยการส่งมอบสินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงิน

ดังนั้น กิจการพิจารณาแล้วว่ารายการเงินมัดจำเพื่อซื้อสินค้า เข้าข่ายลักษณะที่สำคัญของรายการที่มิใช่ตัวเงิน คือ การไม่มีสิทธิที่จะได้รับ (หรือภาระที่จะส่งมอบ) จำนวนเงินที่กำหนดได้แน่นอนหรือจำนวนเงินที่สามารถทราบได้ในจำนวนหน่วยของสกุลเงิน จึงให้ถือปฏิบัติตาม ย่อหน้าที่ 386.2 คือบันทึกด้วยราคาทุนเดิม คือ ราคาที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการ

คำนิยามของคำว่ารายการที่เป็นตัวเงินให้ดูในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 21 (ปรับปรุง 2559)  เรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ย่อหน้าที่ 16

ทั้งนี้ ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของท่านซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าเพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

โพสต์เมื่อ :
9 พ.ย. 2560 11:23:45
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
24 พ.ย. 2567 14:08:59
โดย :
 12824
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์