ผลประโยชน์ของพนักงาน : การบันทึกบัญชีจากการคำนวณภาระหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน
เนื่องจากบริษัทไม่เคยมีนโยบายเรื่องเกษียณอายุมาก่อน เมื่อมีการประกาศใช้ พรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 นั้น
บริษัทได้คำนวณผลกระทบจากประมาณการหนี้สินได้ดังต่อไปนี้ ผลกระทบที่ผ่านมาจนถึง 31/12/2560 = 20.6 ล้านบาท ส่วนผลกระทบของปี 2017 = 2.4 ล้านบาท
คำถาม
บริษัทต้องปรับปรุงจำนวน 20.6 ล้านบาท กับกำไรสะสมต้นงวด และปรับปรุงจำนวน 2.4 ล้านบาท กับงบกำไรขาดทุนของปี 2017 หรือปรับปรุงกับงบกำไรขาดทุนของปี 2017 ทั้งจำนวน 23 ล้านบาท
(คำถามเดือนมกราคม - มีนาคม 2561)
ในกรณีที่ท่านถือปฏิบัติตาม TFRS for NPAEs ท่านต้องพิจารณาก่อนว่าในปีที่แล้วที่ได้มีการประมาณการผลประโยชน์ของพนักงานไว้นั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่ หากไม่ได้ประมาณการไว้ ท่านต้องปรับย้อนหลัง คือปรับกำไรสะสมย้อนหลังเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตที่ไม่ได้บันทึกไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามย่อหน้าที่ 51 และ 65 ของ TFRS for NPAEs ดังนี้
ข้อผิดพลาด
51. ข้อผิดพลาดในงวดก่อน หมายถึง การละเว้นแสดงรายการและการแสดงรายการที่ขัดต่อข้อเท็จจริงในงบการเงินของกิจการในงวดใดงวดหนึ่งหรือหลายงวดก็ตาม ซึ่งมูลค่าดังกล่าว (ก) มีอยู่ในงบการเงินของงวดก่อนที่ได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่ (ข) สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าสามารถหาข้อมูลได้ และนำมาใช้ในการจัดทำและแสดงรายการในงบการเงิน ข้อผิดพลาดดังกล่าวรวมถึงผลกระทบจากการคำนวณผิดพลาด ข้อผิดพลาดจากการใช้นโยบายการบัญชี การมองข้ามหรือการตีความข้อเท็จจริงผิดพลาดและการทุจริต
65. กิจการต้องแก้ไขข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญของงวดก่อน โดยปรับย้อนหลังในงบการเงินฉบับแรกที่ได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่หลังจากที่พบข้อผิดพลาดโดย
65.1. การปรับงบการเงินงวดก่อนที่แสดงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเสมือนว่าข้อผิดพลาดได้ถูกแก้ไขในงวดบัญชีที่ข้อผิดพลาดได้เกิดขึ้น หรือ
65.2. หากข้อผิดพลาดเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในงวดบัญชีก่อนงวดบัญชีแรกสุดที่แสดงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ กิจการต้องปรับปรุงยอดคงเหลือยกมาต้นงวดของสินทรัพย์หนี้สินและส่วนของเจ้าของในงบการเงินงวดแรกสุดที่นำมาแสดงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ
แต่หากประมาณการเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ให้ท่านใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี ซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้
ในกรณีที่บริษัทประมาณการหนี้สินขึ้นมาเนื่องจากมีภาระผูกพันในทางกฎหมาย กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สินหากเป็นไปตามย่อหน้าที่ 304 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ดังนี้
304. ประมาณการหนี้สินจะต้องรับรู้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
304.1. กิจการมีภาระผูกพันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีตไม่ว่าภาระผูกพันนั้นจะเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายหรือภาระผูกพันจากการอนุมาน
304.2. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อกิจการเพื่อจ่ายชําระภาระผูกพันดังกล่าว
304.3. สามารถประมาณจํานวนของภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือ
การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี
50. การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีหมายถึง การปรับปรุงมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์หรือ หนี้สิน หรือจํานวนที่มีการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ในระหว่างงวด อันเป็นผลมาจากการประเมินสภาพปัจจุบันของสินทรัพย์และหนี้สิน และการประเมินประโยชน์และภาระผูกพันที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และหนี้สินนั้น การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี เป็นผลจากการได้รับข้อมูลใหม่หรือมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากเดิม การเปลี่ยนแปลงประมาณการ จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด
62. กิจการต้องรับรู้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประมาณการบัญชีโดยใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป ด้วยการรับรู้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงประมาณการบัญชีสําหรับงวดปัจจุบันและงวดอนาคต ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น
ทั้งนี้ขอให้ท่านศึกษาข้อเท็จจริงและเนื้อหาของรายการและศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม