การบันทึกบัญชีทั่วไป : การบันทึกบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน NPAEs

การบันทึกบัญชีทั่วไป : การบันทึกบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน NPAEs

Q:

การบันทึกบัญชีทั่วไป : การบันทึกบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน NPAEs

            บริษัทฯ จดทะเบียนด้วยทุน 5,000,000 บาท ซื้อ Calibration Business จากกิจการหนึ่ง สิ่งที่บริษัทฯ ได้รับมาคือ Fixed Assets (เช่น เครื่องใช้สำนักงาน, เครื่องมือ,เครื่องใช้, เครื่องจักรฯ) Knowhow รวมถึง Customer Transfer Relation ซึ่งผู้ขายกิจการจะยังคงดูแลต่อไปภายใต้เงื่อนไขในสัญญาอีก 5 ปี โดยกิจการไม่ได้ทำ Due Diligence แต่บริษัทฯ ผู้ขายได้ทำเป็นลักษณะ Informal (แต่ขายต่ำกว่าราคาที่ทำ Due Diligence) ทั้งนี้บริษัทฯ จ่ายเงินซื้อ Calibration Business ครั้งนี้ด้วยราคาประมาณ 10,000,000 บาท แต่บริษัทฯได้รับ Fixed Assets เพียงประมาณ 2,000,000 บาท* ราคา BV. จึงเกิดผลต่างประมาณ 8,000,000 บาท *

หมายเหตุ  *เป็นตัวเลขที่สมมติขึ้น

ประเด็นคำถาม

  1. บริษัท บันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) บริษัทฯ ควรพิจารณามาตรฐานการบัญชีใด เพื่อให้การบันทึกบัญชีเป็นไปตามมาตรฐาน NPAEs
  2. กิจการควรบันทึกรับรู้รายการและวัดมูลค่าอย่างไร สำหรับ Fixed Assets
  3. กรณีผลต่างที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากบริษัทฯ ได้รับฐานลูกค้าเดิม (ซึ่งผู้ขายกิจการจะยังคงดูแลต่อไปภายใต้เงื่อนไขสัญญาอีก 5 ปี) ได้รับ Knowhow ซึ่งทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือไม่ และควรวัดมูลค่าอย่างไร
  4. สามารถนำข้อมูล Due Diligence ที่บริษัทฯ ผู้ขายทำขึ้น แต่มีลักษณะ Informal มาเทียบเคียงสำหรับการวัดมูลค่าบัญชีที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่

    (คำถามเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2561)
A:

            ขอเรียนตอบคำถามท่านสมาชิกตามหลักการของมาตรฐาน TFRS for NPAEs เท่านั้น และตามสมมติฐานว่าบริษัทไม่ได้เตรียมตัวจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้

1. ในกรณีที่บริษัทใช้มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) บริษัทฯต้องปฏิบัติเสมือนการซื้อสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น

     บทที่ 9   เรื่อง เงินลงทุน
     บทที่ 10 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
     บทที่ 11 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
     บทที่ 12 เรื่อง อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน เป็นต้น

2. กิจการต้องรับรู้และวัดมูลค่าตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 126 และ 127 ของ TFRS for NPAEs ดังนี้
     126. กิจการต้องวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์โดยใช้ราคาทุน
     127. ราคาทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ประกอบด้วย
     127.1. ราคาซื้อรวมอากรขาเข้าและภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้หลังหักส่วนลดการค้า และจํานวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย
     127.2. ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร
     127.3. ต้นทุนที่ประมาณที่ดีที่สุดสําหรับการรื้อ การขนย้าย และการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้สินทรัพย์นั้นมาหรือเป็นผลจากการใช้สินทรัพย์นั้นในช่วงเวลาหนึ่ง

3. กิจการต้องพิจารณารับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนดังกล่าวว่าจะสามารถรับรู้ได้หรือไม่ตามย่อหน้าที่ 155, 156 และ 157 ของ TFRS for NPAEs ดังนี้
     155. สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีลักษณะทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น สินทรัพย์ทางปัญญา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สัมปทาน และฟิล์มภาพยนตร์ เป็นต้น

     156. สินทรัพย์สามารถระบุได้ก็ต่อเมื่อ
     156.1. สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือสามารถแยกหรือแบ่งจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือโดยรวมกับสัญญาเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินที่สามารถระบุได้โดยไม่คํานึงว่ากิจการตั้งใจจะแยกเป็นเอกเทศหรือไม่ หรือ
     156.2. ได้มาจากการทําสัญญาหรือสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ โดยไม่คํานึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการ หรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่นๆ
     157. กิจการรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ก็ต่อเมื่อเข้าเกณฑ์ทุกข้อต่อไปนี้
     157.1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเกิดจากสินทรัพย์นั้น
     157.2. ราคาทุนของสินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นไปตามย่อหน้าที่ 160 และ 161 ของ TFRS for NPAEs ดังนี้
     160. กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อเริ่มแรกด้วยราคาทุน
     161. ราคาทุนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้มาแยกต่างหาก ประกอบด้วย
     161.1. ราคาซื้อรวมภาษีนำเข้าและภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้หักด้วยส่วนลดการค้าต่างๆและจํานวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย
     161.2. ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดเตรียมสินทรัพย์เพื่อให้พร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้ตามประสงค์

4. มาตรฐาน TFRS for NPAEs มิได้กำหนดแนวทางในการกำหนดราคาซื้อและขายสินทรัพย์ไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ระบุให้บันทึกบัญชีตามราคาซื้อและขายที่ตกลงกัน
      ดังนั้น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำการตกลงราคาซื้อขายทรัพย์สินแต่ละชิ้นกันเอง โดยอาจเทียบเคียงจากข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งเป็นดุลยพินิจของฝ่ายบริหารทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงกัน และอาจต้องอ้างอิงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลรัษฎากรในกรณีของการออกใบกำกับภาษี เป็นต้น
      ทั้งนี้ขอให้ท่านศึกษาข้อเท็จจริงและเนื้อหาของรายการและศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม

โพสต์เมื่อ :
11 ก.ค. 2561 15:55:39
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
15 ม.ค. 2568 21:51:00
โดย :
 12630
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์