บริษัทฯเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย สินค้าประเภท เส้นด้าย ผ้า ผ้าห่ม เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs บริษัทฯใช้วิธีการบันทึกบัญชีแบบ Periodic มูลค่าสินค้าคงเหลือในงบการเงินแสดงในราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับและแต่ราคาใดจะต่ำกว่า โดยมีวิธีปฏิบัติ 2 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 เปรียบเทียบต้นทุนของสินค้าคงเหลือกับราคาขายตามปกติในขณะนั้น หากรายการสินค้าใดต้นทุนสูงกว่าราคาขาย จะทำการปรับลดมูลค่าให้เท่ากับราคาขาย ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าสินค้าคงเหลือลดลง เนื่องจากบริษัทบันทึกบัญชีแบบ Periodic จึงไม่ได้บัญชีแสดงแยกรายการขาดทุนจากการตีราคาทุน/ตลาดที่ต่ำกว่า แต่ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือลดลงดังกล่าว จะถูกรวมคำนวณอยู่ในต้นทุนขาย
ขั้นตอนที่ 2 หลังจากการปรับลดมูลค่าตามราคาทุนหรือตลาดที่ต่ำกว่าแล้ว บริษัทฯจะนำสินค้าคงเหลือดังกล่าวมาจัดทำ Inventory Aging Report เพื่อคำนวณตั้งค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าสินค้าโดยจะกำหนดอัตราเป็น % ของมูลค่าสินค้าคงเหลือหลังปรับลดมูลค่าทุน/ตลาดตามขั้นตอนที่ 1 แล้ว โดยใช้ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันในแต่ละช่วงระยะเวลาในการเก็บสต๊อค แต่ละประเภทสินค้า เช่น สินค้า A ไม่เคลื่อนไวมากกว่า 360 วัน กำหนดตั้งค่าเผื่อฯ 5% สินค้า B กำหนดที่ 8% โดยทำการบันทึกบัญชี
Dr. ขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ
Cr. ค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าสินค้า
เหตุผลในการตั้งค่าเผื่อเนื่องจากสินค้าที่ไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานานอาจเสื่อมสภาพ บริษัทฯมีนโยบายในการบริหารจัดการที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่มสินค้า ได้แก่ นำมาReprocess Repack เปลี่ยนวัสดุหีบห่อส่วนที่เสียหาย นำมาลดราคาพิเศษกว่าปกติเพื่อระบายสต๊อค หรือจัดโปรโมชั่นขายร่วมกับสินค้าอื่น ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯจึงมีความเห็นว่ารายการขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร
(คำถามเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2561)
มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะย่อหน้าที่ 94-96 กล่าวว่า
94. ต้นทุนของสินค้าคงเหลืออาจจะไม่ได้รับคืนถ้าสินค้าคงเหลือเหล่านั้นเกิดความเสียหายหรือเกิดความล้าสมัยบางส่วนหรือทั้งหมดหรือราคาขายลดลง ต้นทุนของสินค้าคงเหลืออาจจะไม่ได้รับคืน
หากประมาณการต้นทุนในการทำต่อให้เสร็จหรือประมาณการต้นทุนที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้สินค้าขายได้เพิ่มขึ้น การตีราคาสินค้าคงเหลือลดลงจากราคาทุนให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับสอดคล้องกับแนวความคิดที่ว่าสินทรัพย์ไม่ควรแสดงมูลค่าตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้
95. มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ หมายถึง ราคาโดยประมาณที่คาดว่าจะขายได้ตามปกติธุรกิจ หักด้วยประมาณการต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นให้เสร็จและต้นทุนที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้
96. การลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือลงให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ให้พิจารณาจากสินค้าแต่ละประเภทแต่ในบางสถานการณ์ อาจพิจารณาจากกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือมีความเกี่ยวพันกัน
ดังนั้นในกรณีที่ท่านบันทึกผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการทำ Inventory Aging Report ในขั้นที่ 2 นั้น ท่านต้องพิจารณาว่าการจัดทำ Report ดังกล่าวสะท้อนหรือสอดคล้องกับมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับตามที่กล่าวในย่อหน้าข้างต้นอย่างแท้จริงหรือไม่
หากใช่ ท่านต้องรับรู้ผลขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขาย ตามที่กล่าวในย่อหน้าที่ 100 ดังนี้
100. มูลค่าที่ลดลงของสินค้าคงเหลือเนื่องจากการปรับมูลค่าให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายโดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายในงวดที่ปรับมูลค่าสินค้าให้ลดลง ส่วนผลขาดทุนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือ (เช่น ขาดทุนจากสินค้าสูญหาย เป็นต้น) ต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายโดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในงวดที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น
หากท่านพิจารณาแล้ว การใช้ Inventory Aging Report ของท่าน มิได้สะท้อนหรือสอดคล้องกับมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับจากการขาย ท่านต้องถือว่าการใช้วิธีดังกล่าวถือเป็นรายการขาดทุนอื่น และต้องรับรู้ผลขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร
ทั้งนี้ขอให้ท่านศึกษาข้อเท็จจริงและเนื้อหาของรายการและศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยท่านสามารถศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินในเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี https://www.tfac.or.th/upload/9414/e8cXTzUL59.pdf