• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • การเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ เป็นมาตรฐานการบริหารคุณภาพงานสอบบัญชี

การเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ เป็นมาตรฐานการบริหารคุณภาพงานสอบบัญชี

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • การเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ เป็นมาตรฐานการบริหารคุณภาพงานสอบบัญชี

การเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ เป็นมาตรฐานการบริหารคุณภาพงานสอบบัญชี

            สำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีที่ปฏิบัติงานพึ่งจะคุ้นเคยกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ ฉบับที่ 1 (TSQC1) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมา มาตรฐาน TSQC1 ฉบับนี้ได้แปลมาจากมาตรฐาน ISQC1 นอกจาก มาตรฐาน TSQC1 แล้วยังมีมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 220 (TSA 220) การควบคุมคุณภาพการตรวจสอบงบการเงิน ก็เป็นมาตรฐานอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี
            เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ (IAASB) ได้มีการเผยแพร่ร่างมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพงานสอบบัญชี 3 ฉบับ คือ มาตรฐาน ISA 220 ISQM1 และ ISQM2 ซึ่งครบกำหนดการนำส่งข้อเสนอแนะไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 (Comment due on July 1, 2019) และคาดว่าจะเผยแพร่มาตรฐานฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2563

มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคุณภาพทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
            ISQM1 ได้กำหนดความรับผิดชอบของสำนักงานในการจัดให้มีระบบของการบริหารคุณภาพ (System of Quality Management)เน้นการพิจารณาลักษณะและสถานการณ์ของสำนักงานและงานที่ทำซึ่งแตกต่างกันได้ โดยองค์ประกอบของระบบการบริหารคุณภาพ ประกอบด้วย


  1. การกำกับดูแลและผู้นำ (ปรับปรุงจาก “ความรับผิดชอบในภาวะผู้นำสำหรับคุณภาพภายในสำนักงาน”)
  2. กระบวนการประเมินความเสี่ยงของสำนักงาน (ใหม่)
  3. ข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง
  4. การตอบรับงานและการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้าและงานที่มีลักษณะเฉพาะ
  5. การปฏิบัติงาน
  6. ทรัพยากร (ปรับปรุงจาก ”ทรัพยากรมนุษย์”)
  7. สารสนเทศและการสื่อสาร (ใหม่)
  8. กระบวนการติดตามผลและแก้ไข (ใหม่)

            ISQM1 จะมาแทนที่ ISQC1 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพงานสอบบัญชีเดิมจะเน้นการควบคุมคุณภาพ แต่หลักการใหม่จะเน้นการควบคุมการบริหารคุณภาพ โดยเน้นการบริหารคุณภาพในเชิงรุกและอ้างอิงกับความเสี่ยง (Risk based approach) มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานที่เกิดขึ้นนั้นทำให้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการบริหารคุณภาพทั้งสามฉบับมีความสอดคล้องกันและสามารถนำไปใช้ร่วมกันในทุก ๆ สถานการณ์และสำหรับทุก ๆ ขนาดของสำนักงาน และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional Judgment) และการสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional skepticism) ความสำคัญของบทบาทประโยชน์สาธารณะ และคงความสำคัญในความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีที่รับผิดชอบงานในการบริหารและบรรลุคุณภาพในงานตรวจสอบ
            ISQM2 กล่าวถึงการสอบทานคุณภาพงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบของการบริหารคุณภาพที่สำนักงานใช้เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านคุณภาพที่ประเมินไว้ โดยมีข้อกำหนดเรื่องขอบเขตของกิจการที่ต้องกำหนดให้มีการสอบทานคุณภาพงาน และแต่งตั้งผู้สอบทานคุณภาพงาน คุณสมบัติของผู้สอบทานคุณภาพงาน การปฏิบัติงานสอบทานคุณภาพงาน และการจัดทำเอกสารหลักฐาน
            ISA 220 การบริหารคุณภาพการตรวจสอบงบการเงิน ระดับของงานตรวจสอบ ซึ่งจะให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Assurance) ว่าสำนักงานและบุคลากรปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและรายงานที่ออกเหมาะสมอยู่บนหลักการว่าสำนักงานปฏิบัติตามมาตรฐานการบริหารคุณภาพระดับของงานตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีที่รับผิดชอบงานต้องรับผิดชอบโดยรวมต่อการบริหารและการได้มาซึ่งคุณภาพของงานตรวจสอบ ข้อกำหนดของ ISA 220 ประกอบด้วย


  1. ความรับผิดชอบของผู้นำและการได้มาซึ่งคุณภาพงานตรวจสอบ
  2. ข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณและข้อกำหนดเรื่องความเป็นอิสระ
  3. การตอบรับและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้า
  4. ทรัพยากรของงานตรวจสอบ
  5. การปฏิบัติงานตรวจสอบ
  6. การติดตามผลและการแก้ไข
  7. ความรับผิดชอบโดยรวมในการบริหารและการได้มาซึ่งคุณภาพ
  8. การจัดทำเอกสารหลักฐาน


            ตามกระบวนการการเผยแพร่มาตรฐานการสอบบัญชีฉบับภาษาไทย จะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ถือปฏิบัติของมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ดังนั้น สํานักงานสอบบัญชีจะต้องจัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานการบริหารภายในปี 2565 ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชี สนับสนุนให้นํามาตรฐานการบริหารคุณภาพดังกล่าวไปใช้ก่อนวันถือปฏิบัติ สำหรับสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่คงไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากมีการเตรียมการและการวางแผนในการปรับใช้มาตรฐาน แต่หากเป็นสำนักงานขนาดเล็กผู้บริหารจำเป็นจะต้องวางแผนเพื่อเตรียมการนำมาตรฐานมาถือปฏิบัติ ซึ่งในการวางแผนดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนประกอบ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ กำหนดผู้สอบทานและผู้อนุมัติ การวางแผนกำลังคนซึ่งต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถในแต่ละระดับด้วย

โดย..นายยุทธพงษ์ เชื้อเมืองพาน
อนุกรรมการมาตรฐานด้านการสอบบัญชีและเทคนิคการสอบบัญชี

ที่มา : http://www.iaasb.org/


โพสต์เมื่อ :
14 เม.ย. 2563 11:01:08
 9023
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์