IFAC เป็นสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับองค์กรสมาชิกกว่า 175 องค์กรใน 130 ประเทศ เพื่อบริการสาธารณะประโยชน์ในการเสริมสร้างวิชาชีพบัญชีและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย 3 วัตถุประสงค์ในเชิงกลยุทธ์ (1) Global (2) Influential (3) Trusted ในการให้บริการที่สำคัญ 3 ส่วน (1) ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนความคิดระดับโลก (2) สร้างขีดความสามารถด้านวิชาชีพบัญชี และ (3) การสนับสนุนการพัฒนาการยอมรับและการปฏิบัติตามมาตรฐาน ในการประชุมของ IFAC Ordinary Council ครั้งนี้ มีวาระการประชุมของคณะกรรมการบอร์ดประจำปี ประกอบด้วย In-Ki Joo (ประธานกรรมการบริหาร) Wienand Schruff (ประธานกรรมการตรวจสอบ) Alan Johnson (ประธานการวางแผนและการเงิน) Tommye Barie (ประธานการกำกับดูแล) Kevin Dancey (กรรมการผู้บริหาร) Joseph Bryson (กรรมการด้านคุณภาพและการพัฒนา) David Isherwood (Chairman Forum of Firms) Tom Seidenstein (Chairman IAASB) Stavros Thomadakis (Chairman IESBA) Ian Carruthers (Chairman IPSASB) James Gunn (Managing Director Professional Standards IFAC Board Member) และ IFAC Council Members ของแต่ละประเทศ |
การประชุมได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้นำขององค์กรซึ่งเป็นสมาชิก IFAC ของแต่ละประเทศ การแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ความรู้ ข่าวสารและการทำกิจกรรมร่วมกันของสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้ IFAC Council มีความเป็นหนึ่งเดียวในโลก (Global) เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในการนำพาองค์กรสหพันธ์นักบัญชี (Influential) และมีความเชื่อถือ (Trusted) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของ IFAC ดังนี้
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการสนทนาพูดคุยและการจัดกิจกรรมระหว่างองค์กรนักบัญชีมืออาชีพ เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของวิชาชีพในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความคาดหวังของสังคมประชาคมโลกและกฎระเบียบ ซึ่งมีหัวข้อที่สำคัญสรุปได้พอสังเขปดังนี้ ความสำคัญของมาตรฐานสากลที่นำมาใช้ทั่วโลก ช่วยเพิ่มคุณค่าความสมบูรณ์ทางจริยธรรมของวิชาชีพ คุณค่าและคุณภาพของการสอบบัญชี บทบาทวิชาชีพในการกำกับดูแลด้านบัญชีและการเงิน การกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรม และการจัดการการฉ้อโกงและการทุจริต รวมถึงการกำกับดูแลกิจการและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของการใช้รายงานทางการเงิน เป็นต้น IFAC ให้คำแนะนำแก่สมาชิกองค์กรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักจรรยาบรรณสากลสำหรับนักบัญชีมืออาชีพ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอิสระระหว่างประเทศในการให้คำแนะนำด้านภาษีและวิชาชีพอื่น ๆ โดยได้จัดทำIESABA’s eCode อันเป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความอัจฉริยะในการค้นหา ซึ่งจะช่วยให้นักบัญชีมืออาชีพสามารถค้นหาหลักจรรยาบรรณสากลรวมถึงมาตรฐานความเป็นอิสระระหว่างประเทศ (รหัสที่ได้รับการแก้ไขและปรับโครงสร้าง) กาลเวลาแห่งการปฏิรูปสู่อนาคต ในระหว่างของการประชุมตัวแทนองค์กรสมาชิก IFAC ได้ให้ทัศนะและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่อวิชาชีพบัญชีในอนาคตว่าต้องปฏิรูปการให้บริการวิชาชีพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสภาพแวดล้อมในการให้บริการวิชาชีพบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมานักบัญชีทำแต่สิ่งเดิม ๆ (Doing the same things) เช่น ใช้ Excel ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ กระทบยอดคงเหลือ และเลือกตัวอย่างเพื่อเตรียมสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจ ต่อมานักบัญชีก็พัฒนาด้วยการทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ (Doing the same things differently) เช่น การทำขั้นตอนต่าง ๆ ทำงานโดยอัตโนมัติ การใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ด้านการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (Data Visualization Software) การเพิ่มการเรียนรู้ด้วยตัวเองและการเรียนรู้ตลอดชีพ จนมาถึงปัจจุบันที่นักบัญชีต้องปฏิรูปด้วยการทำในสิ่งที่แตกต่างไป (Doing different things) คือ ต้องปฏิรูปวิธีการทำงานและการให้บริการที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาความรู้และความสามารถในการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน |
โดย..นายสันติ พงค์เจริญพิทย์ |