นักบัญชีกับโรคยอดฮิต “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)”

นักบัญชีกับโรคยอดฮิต “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)”

            “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” เชื่อว่านักบัญชีทุกท่านคงจะเคยได้ยินชื่อของโรคนี้กันมาบ้างแล้ว กลุ่มอาการ“ออฟฟิศซินโดรม” เป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นกว่าในอดีต หากเรามองย้อนกลับไป 5-6 ปีที่แล้ว เรื่องนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องใหม่และไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง แต่ในปัจจุบัน อาการออฟฟิศซินโดรมได้กลายเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ถึงขั้นพบคนทำงานออฟฟิศเป็นโรคเกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมอย่างน้อย 1 ใน 10 เลยทีเดียว
            ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท จนทำให้เกิดอาการปวดสะสมและกลายเป็นปวดเรื้อรังในที่สุด ซึ่งอาจพบร่วมกับอาการชาบริเวณแขน มือ และปลายนิ้วเนื่องอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายในแต่ละตำแหน่งถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพของตนเอง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้

อาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง หรือบางครั้งไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดร้าวไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายได้ อาการปวดอาจมีน้อยไปหามากซึ่งมักจะทำให้เกิดความรำคราญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในขณะปฏิบัติงาน
  2. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือรวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป


การป้องกันเพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม

            การป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรมประกอบด้วยหลายปัจจัย และทุกสาเหตุมีความสำคัญที่นำมาซึ่งอาการปวด ดังนั้นจึงขอแนะนักบัญชีถึงวิธีการป้องกันแต่ละวิธีจะมีส่วนช่วยให้ท่านมีความสุขกับการทำงานที่ปราศจากอาการปวด โดยการป้องกันนี้เป็นตัวอย่างที่จะแนะนำเพื่อลดการเกิดปัญหาออฟฟิศซินโดรม

1. ควรมีการปรับเปลี่ยนท่าทางอริยาบทเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
2. ไม่ทำงานในท่าทางอริยาบทเดิมนานเกิน 50 นาทีหากมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่องควรหยุดพักสัก 10-15 นาที
3. ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานที่จำเป็นเพื่อลดการบาดเจ็บในระหว่างปฏิบัติงาน
4. เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องใช้งานหนักการยืดกล้ามเนื้อก่อน ระหว่าง และหลังจากการทำงานในแต่ละวัน


            ในปัจจุบันการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมมีอย่างแพร่หลายรวมทั้งมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะทำการรักษาเพื่อลดอาการปวดอักเสบหรือลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ เนื่องจากมักพบผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาเป็นระยะปวดเรื้อรัง ดังนั้นการวางแผนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งวิธีในการรักษา คือ การรักษาเพื่อลดอาการปวดและอาการชา ด้วยการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้รักษาอาการปวด โดยใช้พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถกระตุ้นทะลุผ่านเสื้อผ้าลงไปถึงเนื้อเยื่อ และกระดูก ประมาณ 10 เซนติเมตรคลื่นไฟฟ้าดังกล่าวจะกระตุ้นเส้นประสาทโดยตรง ทำให้เกิดกระบวนการDepolarization กระตุ้นเนื้อเยื่อบริเวณที่ปวด และช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตบริเวณกล้ามเนื้อดียิ่งขึ้น โดยสามารถบำบัดได้ทั้งบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ข้อศอก แขน มือ เอว หลัง ไหล่ ขา เข่า หรือแม้กระทั่งข้อเท้า หรือแม้แต่กล้ามเนื้อเอ็นกระดูกไขข้อ ล้วนแล้วแต่สามารถบำบัดได้ด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ และรู้สึกผ่อนคลายในขณะที่ทำการรักษาโดยไม่สร้างความเจ็บปวดให้เกิดแก่ผู้ป่วยแต่อย่างใด เห็นผลทันทีหลังการรักษา และยังสามารถบำบัดอาการที่ปวดจากระบบเส้นประสาทและไม่ใช่เส้นประสาท เช่น กล้ามเนื้อ และกระดูก

นอกจากการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยเครื่อง PMS แล้ว ยังมีหลากหลายเครื่องมือ หรือการรักษาเพื่อช่วยในการรักษาอาการปวดเรื้อรังจากโรคออฟฟิศซินโดรมให้คุณมีคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น อาทิ 

1. การรักษาด้วยคลื่นกระแทกเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อมีการซ่อมแซมในบริเวณที่มีการบาดเจ็บ Shock Wave Therapy ทั้งชนิด Focus และ Radial
2. การรักษาเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อเอ็นกล้ามเนื้อ และเส้นประสา ท โดยการใช้ High Laser Therapy
3. การยืดกล้ามเนื้อโดยนักกายภาพบำบัดซึ่งมีประโยชน์ทั้งการรักษาและป้องกันการบาดเจ็บซ้ำได้
4. การฝังเข็มโดยแพทย์ผู้เชียวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
5. การรับประทานยา



            แต่อย่างไรก็ดี นักบัญชีหรือคนที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน ๆ อย่าง เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามอาการเหล่านี้ไป หากท่านเริ่มมีอาการปวด หรือชาในบริเวณดังกล่าว ให้ท่านรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการขอคำแนะนำและรักษาอาการเหล่านั้นโดยเร็วไว หากปล่อยอาการเหล่านี้ไว้อาจจะเสี่ยงที่เราจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเรื้อรังได้

“อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

คำพูดนี้ยังคงใช้ได้ดีในทุกช่วงเวลา เพราะการไม่มีโรคนั้นเป็นลาภที่ประเสริฐอย่างแท้จริง จึงอยากให้นักบัญชีทุกท่านรักษาสุขภาพของท่าน จะได้อยู่กับงานที่รัก และคนที่รักไปนาน ๆ

ที่มา : http://www.sukumvithospital.com/content.php?id=3495

เรียบเรียงโดย : ส่วนงานสื่อสารองค์กร




โพสต์เมื่อ :
7 ส.ค. 2563 14:42:25
 5869
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์