• Home

  • What’s News

  • กกบ. เคาะ! ผ่อนผัน “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” เป็นทุนได้อีกไม่เกิน 3 ปี

กกบ. เคาะ! ผ่อนผัน “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” เป็นทุนได้อีกไม่เกิน 3 ปี

  • Home

  • What’s News

  • กกบ. เคาะ! ผ่อนผัน “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” เป็นทุนได้อีกไม่เกิน 3 ปี

กกบ. เคาะ! ผ่อนผัน “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” เป็นทุนได้อีกไม่เกิน 3 ปี

            เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีมติเห็นชอบการผ่อนผันให้กิจการที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้นั้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จัดประเภทรายการหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของส่วนของผู้ถือหุ้น (“ทุน) ในงบการเงินภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม 2563 ตามที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีเสนอ

            การผ่อนผันดังกล่าวเป็นเพียงการให้ระยะเวลาในการจัดประเภทรายการของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนสำหรับกิจการที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวและได้รับชำระค่าหุ้นกู้นั้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อให้กิจการที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าว มีระยะเวลาเตรียมตัวบริหารจัดการที่จำเป็นและเท่าเทียมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบในการจัดประเภทรายการใหม่ของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่สูงขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้กิจการที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าวต้องเร่งบริหารจัดการหุ้นกู้ให้ตรงตามมาตรฐานการบัญชีภายใน 1 มกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม กิจการที่เลือกจัดประเภทรายการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทุนต้องเปิดเผยเหตุผลที่เลือกจัดประเภทรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนและผลกระทบต่อทุกรายการในงบการเงินหากต้องจัดประเภทรายการดังกล่าวเป็นหนี้สินทางการเงิน ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

            ลักษณะสำคัญของ “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” ที่จัดประเภทเป็นทุนตาม TAS 32 คือ การไถ่ถอนหุ้นกู้จะเกิดขึ้นเมื่อเลิกกิจการ โดยชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียวเมื่อเลิกกิจการ ทั้งนี้ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใด ๆ ก็ได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้ง ตามดุลยพินิจของผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงฝ่ายเดียว ปัจจุบันกิจการที่ออก “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” จัดประเภทตราสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุน” ในงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลารายงาน ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562แต่ในเอกสาร “ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้” (ข้อกำหนดสิทธิฯ) มักมีข้อกำหนดที่อาจตีความได้ว่าผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนการชำระบัญชีหรือได้รับชำระคืนก่อนเลิกกิจการ เป็นเหตุให้กิจการผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะดังกล่าวต้องจัดประเภทรายการใหม่เป็น “หนี้สินทางการเงิน” ในงบการเงินทันทีเมื่อมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของกิจการผู้ออกหุ้นกู้ทันที

            อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทรายการหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวเป็น ครั้งแรกภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาที่ผ่อนผันดังกล่าว หากกิจการที่ยังคงมีหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนคงเหลืออยู่ในงบการเงิน และหุ้นกู้ดังกล่าวยังคงมีลักษณะสำคัญที่เข้าเงื่อนไขการจัดประเภทเป็นหนี้สินทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 กิจการต้องจัดประเภทรายการใหม่สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว และรายการอื่นที่เกี่ยวข้องกับตราสารดังกล่าวเป็นหนี้สินทางการเงิน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ

ทั้งนี้การผ่อนผันดังกล่าวไม่ได้เป็นการเลื่อนวันที่มีผลบังคับใช้ของมาตรฐานการบัญชี​ ฉบับที่​ 32 เรื่อง​ การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน​ (TAS 32)​ โดยมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ยังคงมีวันที่มีผลบังคับใช้เป็นวันที่​ 1 มกราคม​ 2563​ เหมือนเดิม

Post Date :
26 Nov 2019 15:49:29
 9693
Visitor
Create a website for free Online Stores