• Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • การปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบประมาณการทางบัญชี

การปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบประมาณการทางบัญชี

  • Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • การปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบประมาณการทางบัญชี

การปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบประมาณการทางบัญชี

การปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวกับ
การตรวจสอบประมาณการทางบัญชี

            การตรวจสอบประมาณการทางบัญชีเป็นอีกเรื่องที่ผู้สอบบัญชีคุ้นเคยกัน ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมาสภาวิชาชีพบัญชีได้เผยแพร่ร่างมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 540 ฉบับปรับปรุงตามมาตรฐานการสอบบัญชี ระหว่างประเทศค่ะ ซึ่งคาดว่าจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยกับการตรวจสอบงบการเงินสำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จึงขอนำประเด็นที่ปรับปรุงมาเล่าสู่กันฟังจะได้อินเทรนด์แบบเน้น ๆ กันเลยค่ะ
            การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มตั้งแต่ชื่อเลย โดยจากเดิม คือ “การตรวจสอบประมาณการทางบัญชี รวมถึงประมาณการทางบัญชี ที่เกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง” เปลี่ยนเป็น “การตรวจสอบประมาณการทางบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง” แล้วทำไมต้องปรับปรุงมาตรฐานฉบับนี้ด้วยนะ จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ต้องปรับต้องเปลี่ยน ก็เพื่อรับลูกจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่นับวันจะลึกซึ้งขึ้นตามการปรับเปลี่ยน Business Model ของแต่ละกิจการ ซึ่งในมาตรฐานฉบับนี้ ได้ให้ตัวอย่างประมาณการทางบัญชีไว้ในย่อหน้าที่ ก1 อย่างเช่น

ประมาณการทางบัญชี TFRS ที่เกี่ยวข้อง
การวัดมูลค่าของสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน TFRIC 12 เรื่อง ข้อตกลงสัมปทานบริการ
ค่าเผื่อสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น TFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
การวัดมูลค่าของหนี้สินตามสัญญาประกันภัย TFRS 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย
การรับรู้รายได้สำหรับสัญญาระยะยาว TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

            จะเห็นได้ว่าเดิมประมาณการทางบัญชีก็ยุ่งยากอยู่แล้วพอมาถึงยุคนี้ ยิ่งได้รับอิทธิพลจากรายการค้าที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ มาตรฐานที่คิดค้นขึ้นมารองรับก็ต้องตามให้ทัน ทำให้แนวคิดที่พิจารณาถึง “ความสมเหตุสมผลตามแม่บท การรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง” เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เรียกได้ว่าต้องมองกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำกันเลยทีเดียว คือ ต้องสมเหตุสมผลกันตั้งแต่จัดทำไปจนถึงการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน อาทิเช่นในมาตรฐานฉบับปรับปรุงนี้
  • ระบุชัดว่าต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อมูลและข้อสมมติ ที่ใช้ในการจัดทำประมาณการนั้นว่ามีความสอดคล้องระหว่างกันและสอดคล้องกับที่ใช้ในประมาณการอื่นหรือไม่ หรือสอดคล้องกับที่ใช้กับธุรกรรมอื่นของกิจการหรือไม่ รวมทั้งเหมาะสมตามที่กำหนดโดย แม่บทการรายงานทางการเงินหรือไม่ ซึ่งแต่เดิมมาตรฐานระบุว่าเป็นเรื่องที่อาจพิจารณาค่ะ
  • ระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลต้องสมเหตุสมผลทั้งที่เดิมระบุว่าแค่เปิดเผยอย่างเพียงพอเท่านั้น

ความสมเหตุสมผลตามแม่บทการรายงานทางการเงิน หมายถึง ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในแม่บทการรายงานทางการเงินได้นำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการนำมาใช้กับ
  • การจัดทำประมาณการทางบัญชี ซึ่งรวมถึงการเลือกใช้วิธีการ ข้อสมมติ และข้อมูลเมื่อพิจารณาตามลักษณะของประมาณการทางบัญชี, ข้อเท็จจริงและสถานการณ์ของกิจการ
  • การเลือกค่าประมาณแบบจุดของผู้บริหาร
  • การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประมาณการทางบัญชี ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีการจัดทำประมาณการทางบัญชี และอธิบายลักษณะ ขอบเขต และแหล่งข้อมูลที่มีความไม่แน่นอนของประมาณการ

            นอกจากนี้ อิทธิพลจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลก็มีส่วนทำให้ต้องปรับมาตรฐานฉบับนี้เช่นกัน อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยก็มักจะออกกฎหรือข้อบังคับมาเพื่อกำกับหรือให้แนวปฏิบัติสำหรับกลุ่มสถาบันทางการเงิน ตัวอย่างเช่น การกำกับดูแลเงินกองทุนที่ประกาศไปเมื่อกลางปี 2562 โดยสาระสำคัญของประกาศ คือ กำหนดเรื่องการรับรู้ ผลกระทบต่อเงินกองทุนจากการนำ TFRS 9 มาใช้ในครั้งแรก และกำหนดคำจำกัดความในเงินกองทุนให้สอดคล้องกับ TFRS 9 รวมทั้งกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดความเสี่ยงที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้มาตรฐานฉบับนี้จึงระบุว่าผู้สอบบัญชีต้องทำความเข้าใจปัจจัยด้านข้อกำหนดทางกฎหมายในขั้นตอนประเมินความเสี่ยงด้วย

หนังสือเวียนนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเงินกองทุนเพื่อรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9


            และแน่นอนความยุ่งยากเหล่านั้นส่งผลต่อหลักการประเมินความเสี่ยงตลอดจนวิธีตอบสนองต่อความเสี่ยงอย่างแรง มาตรฐานฉบับนี้จึงนำเสนอแนวคิดว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยที่กระทบต่อความเสี่ยง โดยกำหนดว่าต้องทำความเข้าใจ และพิจารณาผลกระทบจากความซับซ้อน การใช้ดุลยพินิจ และความไม่แน่นอนของประมาณการต่อความเสี่ยงสืบเนื่องและความเสี่ยงจากการควบคุม อีกทั้งพุ่งเป้ากับแนวทางวัดระดับความเสี่ยง (Scalability) จากปัจจัยเหล่านั้น ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น จำนวนหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีความ ที่การคำนวณอาจไม่ได้ซับซ้อนแต่มีความไม่แน่นอนสูงและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยแต่ละคดีก็มีระดับความไม่แน่นอนต่างกันขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย อย่างเช่น คดีอยู่ในกระบวนการของศาลชั้นไหน ข้อเท็จจริงที่ผู้บริหารรวบรวมและประเมินไว้มีแค่ไหน ฯลฯ และต้องใช้ดุลยพินิจในระดับที่ต่างกันเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานและพยานที่มีว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ สามารถเสริมให้ชนะคดีได้หรือไม่ ดังนั้นถ้าเสี่ยงมากกว่าก็ต้องตรวจเยอะกว่าตามระเบียบค่ะ
            มาถึงจุดนี้ สมาชิกหลาย ๆ ท่าน ที่เริ่มอินและอยากจะฟินต่อ ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อ Download ร่างมาตรฐานฉบับนี้ได้นะคะ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าค่ะ

โดย.. นางสาวรุณีย์ ผลาขจรศักดิ์
กรรมการในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการสอบบัญชี
และเทคนิคการสอบบัญชี
Post Date :
4 Feb 2020 14:47:33
 5458
Visitor
Create a website for free Online Stores