CPA 4.0

CPA 4.0

CPA 4.0
            ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่รัฐบาลประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ตัวเลข 4.0 จึงกลายเป็นตัวเลขท็อปฮิตชั่วข้ามคืนกันเลยทีเดียว ตอนนี้อยากทำอะไรที่ดูล้ำดูไฮเทคมักจะมี 4.0 ตามมาด้วยเสมอ วันนี้อยากจะพูดถึงการปรับตัวของผู้สอบบัญชีในปัจจุบันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงขอใช้หัวข้อเป็น CPA 4.0 ก็แล้วกัน แต่ก่อนจะพูดถึง CPA 4.0 ขอย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับนโยบาย Thailand 4.0 กันซักนิดนึง

Thailand 4.0
            เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว

เพื่อให้เข้าใจ ก่อนจะมาถึง Thailand 4.0 ประเทศไทยก็ผ่านการพัฒนามาเป็นลำดับขั้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่...
Thailand 1.0
>>>
การพัฒนาประเทศเน้นการเกษตรเป็นหลัก
Thailand 2.0 >>> นอกจากเกษตรกรรมแล้วก็เน้นไปทางอุตสาหกรรมแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา
Thailand 3.0 >>> ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เน้นหนักไปทางอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก
Thailand 4.0 >>> ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

CPA 3.0
            ถ้าเทียบกับ Thailand 3.0 ตอนนี้ผู้สอบบัญชีก็อยู่ในยุคปัจจุบันที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคการใช้แรงงานคนเป็นหลักมาเป็นเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนมนุษย์มากขึ้น เราหลายคนเรียกยุคนี้ว่า ยุคแห่งการ Disruption ยุคที่ทุกอย่างในโลกเริ่มไม่เหมือนเดิม สื่อสิ่งพิมพ์ตาย สถานีโทรทัศน์ขาดทุน ค่ายเพลงหันมาขายเครื่องสำอางเพื่อความอยู่รอด หุ้นในกลุ่มธนาคารตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ผลประกอบไม่แย่และอื่น ๆ อีกมากมาย
            เกิดอะไรขึ้นกับโลกยุคปัจจุบัน ? เป็นคำถามที่มีคำตอบได้หลากหลายแต่คำตอบหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันคือ เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วจนหลายคนปรับตัวตามไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันที่เคยมีอยู่เดิมได้ ก็ต้องพ่ายแพ้และออกจากเกมนี้ไป

Disruption VS ผู้สอบบัญชี
แล้วผู้สอบบัญชีจะได้รับผลกระทบจากการ Disruption จากเทคโนโลยีหรือไม่? คำตอบคือ ทุกคนที่ไม่ปรับตัวจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
แต่สำหรับอาชีพผู้สอบบัญชี ในระยะสั้นไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับบางอาชีพ เช่น อาชีพนักข่าวที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ได้รับผลกระทบ หรือบางอาชีพที่สามารถถูกทดแทนได้โดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูง
            แต่ในระยะยาว ลองนึกภาพว่าถ้าธุรกิจขนาดเล็กทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ทั้งหมด และหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายการดังกล่าวได้ทั้งหมด แถมการจัดทำบัญชียังสามารถทำผ่าน Application ของภาครัฐโดยอัตโนมัติจากการทำรายการผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด ธุรกิจเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องมีผู้สอบบัญชีอีกต่อไป (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) แต่แน่นอนธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายก็ยังต้องการผู้สอบบัญชีเข้ามาให้ความเชื่อมั่นต่อความถูกต้องของข้อมูลที่จะนำเสนอผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่สำคัญ ถ้าวันนั้นมาถึงผู้สอบบัญชีที่เป็นที่ต้องการในตลาดอาจจะมีทักษะในการทำงานที่สำคัญเปลี่ยนไปจากปัจจุบั

CPA 4.0
            มีงานวิจัยอันหนึ่งเขาสอบถามนักบัญชีทั่วโลกมากกว่า 3,000 คน นักบัญชีส่วนมาก หรือคิดเป็น 39% จากทั้งหมด นิยามตัวเองว่า เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ได้ไว โดยให้เหตุผลประกอบว่าความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ได้ไวจะสามารถลดเวลาในการทำงานลงได้และเพิ่มคุณภาพในการให้บริการกับลูกค้า
            งานวิจัยโดยสมาคมผู้สอบบัญชีในรัฐแมรีแลนด์ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจความเห็นของผู้สอบบัญชีและนักบัญชีรวมจำนวน 1,000 คน ส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า Artificial Intelligence, Big Data และ High-Speed Data Analytics จะเข้ามามีบทบาทในอาชีพนักบัญชีในอนาคตอันใกล้นี้

วันนี้มีหลัก 3 ข้อมาฝากเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  1. ทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวคุณ
    อย่ากลัวการเริ่มต้นและอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด บางอันคิดว่าไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันกับเรา แต่การได้เรียนรู้สิ่งใหม่จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสะสมทักษะการเรียนรู้เพื่อต่อยอดสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่สูงวัยและยังประกอบอาชีพผู้สอบบัญชี การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อยู่รอบตัวจะช่วยให้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพได้ง่ายขึ้น
  2. เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีง่าย ๆ หรือ พื้นฐานก่อน
    บางครั้งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเรื่องที่ยากเสมอไป อะไรที่ง่าย ๆ ใกล้ตัวอาจเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต เช่น เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับ Computer หรือ Internet ก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน พอมีพื้นฐานก็ขยับมาเรื่องที่ยากขึ้น เช่น ERP, Cloud Computing และ Blockchain เป็นต้น
  3. ศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาชีพคุณอย่างจริงจัง
    พยายามติดตามความเป็นไปของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานสอบบัญชีอย่างสม่ำเสมอ และถ้าเทคโนโลยีใดที่มีผลกระทบต่ออาชีพ ก็ควรศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังเพื่อสร้างความพร้อมและปรับตัวได้ เช่น ในต่างประเทศคาดว่า เรื่อง Cloud Computing และ Blockchain น่าจะมากระทบการทำงานของผู้สอบบัญชีไม่มากก็น้อยในอนาคตอันใกล้นี้
    สำหรับประเทศไทยเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกนี้อาจดูไกลตัวหรือมีผลกระทบกับเราช้า แต่รับรองว่า มาแน่นอน การมีเวลาเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงก่อนก็ดีกว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว
Thailand 4.0 คืออะไร เผยแพร่เดือนมกราคม 2560
https://www.it24hrs.com/2017/thailand-4-0/
Want AI and automation for your practice? Here’s what you need to know, May 2018
https://www.sage.com/en-us/blog/ai-and-automation-for-accountants/
CPAs cite AI, machine learning, and cognitive computing
as top hard tech trends, September 2018
https://www.sage.com/en-us/blog/hard-trends-impact-accounting/

โดย..นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี


Post Date :
6 Mar 2020 13:15:16
 7184
Visitor
Create a website for free Online Stores