ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรม ระบบงานในองค์กร รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันซึ่งได้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และได้มาถึงจุดที่เราทุกคนต้องมาตระหนักถึงความสำคัญผลกระทบและความพร้อมของตนเองในหลายมิติ โดยเฉพาะหากเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรไม่ว่าขนาดเล็กขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เราจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เราและองค์กรสามารถก้าวทันไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาโดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรผู้ถือหุ้น รวมถึงระบบนิเวศน์ในสังคมอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าโลกก้าวไปเราก้าวทันอย่างมั่นคง
สำหรับสายงานด้านบัญชีและการเงิน ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยที่น่าสนใจของ McKinsey & Companyซึ่งแสดงผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถมาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ในกิจกรรมทางบัญชีและการเงิน โดยกิจกรรมร้อยละ 40 สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ (Fully Automated) และร้อยละ 17 สามารถแทนที่ได้บางส่วน (Mostly Automated) ในรายละเอียดแล้วกิจกรรมทางบัญชีและการเงินที่รวมอยู่ในการศึกษา เริ่มตั้งแต่งานบันทึกบัญชีทั่วไป การเบิกจ่ายเงินสด การบริหารรายได้ การควบคุมทางการเงินและการจัดทำรายงาน การวางแผนและวิเคราะห์ทางการเงิน ขั้นตอนทางภาษี การบริหารทรัพย์สินทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงรวมจนถึงงานตรวจสอบบัญชี เป็นต้น เรียกได้ว่าเกินกว่ากึ่งของงานในปัจจุบันสามารถเป็น Automation ได้หมดแล้ว มองในแง่ดีคือ เทคโนโลยีที่ก้าวไปทำให้แต่ละองค์กรที่พัฒนาไปสามารถที่จะจัดสรรทรัพยากร
แหล่งที่มา : McKinsey Global Institute analysis; McKinsey analysis(A)
บุคคลที่มีอยู่ในแต่ละส่วนงานที่สามารถแทนที่ด้วย Robot ไปทำงานที่มี Value Added มากขึ้นและปล่อยให้ Robot จัดการงานธุรกรรมไปอย่างเป็นระบบ โดยองค์รวมแล้วน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้มากเลยทีเดียว
ยกตัวอย่าง การทำประมาณการทางการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์กร ซึ่งในอดีตต้องมีขั้นตอนมากมายในการรวบรวมข้อมูล ใช้คนในหลายส่วนงานในการจัดทำโปรแกรมตารางต่าง ๆ ประกอบกับเวลาที่ใช้จัดทำประมวลผลค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ประมาณการในแต่ละสถานการณ์ที่เป็นไปได้ ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาอัลกอริทึมจากฐานข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลยอดขาย ห่วงโซ่อุปทาน ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูลทางสถิติและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ โดยการประมวลผลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รอบด้านและทันต่อการใช้งานมากกว่าการจัดทำโดยบุคคลากรดังในอดีต นอกจากนี้ การปรับตัวที่เริ่มเห็นในปัจจุบันขององค์กรขนาดใหญ่ได้มีการใช้ระบบ Shared - Service Center เพื่อรวมศูนย์หน่วยงานเฉพาะอาทิเช่น บัญชี การเงิน บริหารทรัพยากรบุคคล และให้บริการแก่หน่วยงานอื่นอย่างเป็นระบบซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงานบริการ อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการจัดการโดยรวม และได้ Scale ที่จะนำ Robotic Process Automation (RPA) เข้ามาจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปรับตัวขององค์กรและบุคคลากรเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป คงไม่ใช่การปรับเปลี่ยนเพียงข้ามคืนหรือใช้เพียงเงินทุนเท่านั้นในการปรับเปลี่ยนแต่คงต้องเป็นการปรับเปลี่ยนองค์รวมขององค์กร อาศัยความร่วมมือของทุก ๆ หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานบัญชีและการเงิน หน่วยงานสารสนเทศ หน่วยธุรกิจหลักเป็นต้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความตระหนักของบุคคลากรในองค์กรด้วย เกี่ยวข้องกับการปรับใช้เทคโนโลยีขอทิ้งท้ายบทความด้วยงานสำรวจของ CGMA ที่ให้ผู้เข้าร่วมทำการสำรวจความตระหนักและแผนการนำมาใช้สำหรับ7 เครื่องมือทางเทคโนโลยีหลักที่มีผลกระทบต่องานด้านการเงินซึ่งเคยมีการทำวิจัยไว้ก่อนหน้านี้โดย Deloitte ในปี 2016 (Finance In a Digital World) โดย Deloitte ได้แบ่งเครื่องมือทางเทคโนโลยีทั้ง 7 ตัวเป็น 2 หมวด กล่าวคือ Core Modernization และ Exponential ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจว่า Advanced Analytics ดูจะได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้มากกว่า Process Robotics ซึ่งแต่เดิม Deloitte เคยเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีหลักเสียอีก
Core modernization and exponential tools impacting the finance function
แหล่งที่มา : CGMA Re-inventing finance for a digital world, Table 3- Core modernisation and exponential tools impacting the finance function
เพื่อเป็นข่าวสารเนื่องด้วยเป็นหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหานี้ สภาวิชาชีพบัญชี จะมีการจัดงาน TFAC Conference 2019 - Future of Finance : Digital Disruption ขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบทิศทางอนาคตทางการเงินในมุมมองระดับโลกจาก Mr.Szilard Brenner ACCA, FCMA CGMA, Head - Business Transformation at Valiram และยังจะได้ฟังการเสวนาเกี่ยวกับนโยบาย กลยุทธ์ แผนงาน ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก Digital Disruption ของประเทศไทยจากผู้แทนหน่วยงานกำกับดูแลของไทย ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร การอัพเดทเทรนด์ของการประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นคู่คิดของธุรกิจในยุค Digital Disruption จากผู้แทนจากสำนักตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ และเรายังได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นบรรยายในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption
อ้างอิง
โดย..นางสาวสลิลรัตน์ แก้วคตฆะศิริ |