• Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • สรุปสาระสำคัญจากการเสวนาความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับ เทคโนโลยี AI และ Blockchain ตอนที่ 1

สรุปสาระสำคัญจากการเสวนาความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับ เทคโนโลยี AI และ Blockchain ตอนที่ 1

  • Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • สรุปสาระสำคัญจากการเสวนาความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับ เทคโนโลยี AI และ Blockchain ตอนที่ 1

สรุปสาระสำคัญจากการเสวนาความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับ เทคโนโลยี AI และ Blockchain ตอนที่ 1

            สวัสดีท่านผู้อ่านและเพื่อนสมาชิกทุกท่านกลับมาพบกันอีกครั้ง กับสรุปสาระสำคัญจากการเสวนาที่สภาวิชาชีพบัญชี และสมาคมผู้ตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ ภาคพื้นกรุงเทพฯ หรือ ISACA Bangkok Chapter ได้ร่วมกันจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้เป็นการจัดเสวนาร่วมกันครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “ความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับเทคโนโลยี AI และ Blockchain” เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวิสโซเทล โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการเสวนาจำนวนมาก การจัดเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความรู้แก่ผู้ตรวจสอบและนักบัญชี ให้พร้อมรับมือกับการเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ของเทคโนโลยี AI และ Blockchain สามารถปกป้ององค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรในยุคประเทศไทย 4.0 ได้เป็นอย่างดี
            ในช่วงแรกของการเสวนา ได้รับเกียรติจาก คุณจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชีให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนา โดยท่านได้กล่าวต้อนรับผู้มีเกียรติ ที่มาร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความทันสมัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยี AI และ Blockchain มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก โดยประเทศไทยได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า 14 ธนาคารของไทย ได้จับมือรัฐวิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง เดินหน้า Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มายกระดับประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ โดยเริ่มต้นด้วยโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ บนระบบบล็อกเชนเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า ธุรกิจอื่น ในหลายประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ การศึกษา รวมถึงการบัญชี ได้มีการปรับตัวไปพอสมควรเช่นกัน โดยเริ่มมีการนำ AI มาทดลองใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบทุจริต และในระบบบัญชี ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน AI จะช่วยให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ตรวจสอบ และนักบัญชี จึงควรทำความเข้าใจเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อทราบความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมที่จะปรับตัวโดยการพัฒนาทักษะอื่นที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาและให้ความเชื่อมั่นในสถานการณ์ที่ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการประมวลผลซึ่งการเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมการเสวนาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคณะวิทยากร ที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในองค์กรต่อไป
            การเสวนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากคุณเสนีย์ วัชรศิริธรรม นายกสมาคม ISACA Bangkok Chapter ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนา โดยท่านรู้สึกเป็นเกียรติและยินดี ที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้เข้าร่วมการเสวนาจำนวนมาก โดยการจัดเสวนาหัวข้อนี้ ได้จัดเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ และยังคงมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการเสวนาจำนวนมากเช่นเคย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก ปัจจุบันเทคโนโลยี AI และ Blockchain ได้ทวีความสำคัญ และมีบทบาทในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานของทุกคนอย่างมาก สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานจากรูปแบบเดิม
            ไปสู่รูปแบบใหม่ ที่สามารถทดแทนรูปแบบเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงถือเป็นความท้าทายของผู้ตรวจสอบ ที่จะให้ความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีดังกล่าว ว่ามีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยคุณเสนีย์ได้กล่าวขอบคุณท่านวิทยากร และคณะทำงานโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมด้านการตรวจสอบภายใน ที่มีส่วนสำคัญในการจัดเสวนาครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมการเสวนาทุกท่าน จะมีความสุขกับการเสวนาในวันนี้
            ปัจจุบันเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หรือ แบบ Exponential สอดคล้องกับกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2015 จนถึงปี 2020 เราจะพบกับปรากฎการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งการคาดการณ์ของเขา มีความแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ ดังภาพ


            ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงต้องมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยในยุคนี้เทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมต่อกันได้ จึงเกิดการกระจายตัวของตัวกลาง อาทิเช่น ธุรกิจโทรทัศน์ที่เคยเป็นระบบ Centralization จะปรับเปลี่ยนเป็นระบบ Decentralization ธุรกิจหนังสือพิมพ์ต้องทยอยปิดตัวลง เนื่องจากประชาชนเป็นผู้ผลิตข่าวเสียเอง ในอนาคตอันใกล้จะไม่มีใครเดินทางไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เพราะทุกธนาคารจะอยู่ในสมาร์ทโฟน รวมถึงสมาร์ทโฟนจะกลายเป็น Future of Everything การเก็บข้อมูลและการส่งข้อมูลด้วยความเร็ว จะเร็วกว่าเดิมเป็นล้านเท่า พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด หุ่นยนต์จะเชื่อมต่อเข้ากันกับระบบคลาวด์ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ได้ถึงล้านล้านอุปกรณ์ โรงงานแห่งอนาคตในยุค 5G กำลังจะเริ่มต้น โดยภายใน 2 ปีนี้จะเกิดการรวมตัวกันของอุปกรณ์ประมวลผลที่มีราคาไม่แพง เซนเซอร์ที่สามารถจับภาพ และเก็บข้อมูลจำนวนมาก และอัลกอริทึมการประมวลผลที่ไม่ซับซ้อน ผนวกกับ Machine Learning ส่งผลให้ในอนาคต โรงงานจะมีหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ ด้วยการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์
            นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ในปี 2020 ถึง 2025 จะเป็นยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ และซอฟท์แวร์อันชาญฉลาด ซึ่งจะมีการเติบโตแบบ Super-Exponential Growthการผลิตสินค้าจะปรับเปลี่ยนจากการผลิตจำนวนมาก กลายเป็นผลิตตามความต้องการเฉพาะบุคคลด้วยราคาถูก ทุกสิ่งอย่างล้วนวัดได้ (Sensorization of things) ไม่ว่าจะเป็นดวงตา ใบหน้า เสียง สัมผัส โดยข้อมูลจำนวนมากจะถูกเก็บใน Data Center บน Cloud และจะถูกนำมามาวิเคราะห์ประมวลผลอย่างรวดเร็วโดยใช้ AI ธุรกิจจึงสามารถล่วงรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทั้งหมด ส่งผลให้การตลาดในอนาคตกลายเป็นสิ่งเหลือเชื่อ AI จะมีอยู่ในโทรศัพท์มือถือทุกรุ่น ดังจะเห็นได้ว่า Google สามารถล่วงรู้การจราจรแบบเรียลไทม์โดยการนำข้อมูล Location ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคน ไปวิเคราะห์เชื่อมโยงอย่างแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยี 5G, IoT และ AI กำลังจะทำให้องค์กรทำงานแบบอัตโนมัติมากขึ้น ข้อมูลทุกอย่างจะมีการเก็บรวบรวมแบบเรียลไทม์ และเชื่อมโยงกันบนระบบ Cloud สำนักงานบัญชีสามารถติดต่อกับบริษัทลูกค้า และเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา โดย AI ซอฟต์แวร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การตรวจสอบจึงเป็นแบบอัตโนมัติซึ่ง Smart Workplace Summit ได้วิเคราะห์ว่าในอนาคตพนักงานไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังที่ทำงาน และองค์กรที่ใช้ AI ช่วยขับเคลื่อน (Enterprise AI Solution) กำลังจะเกิดขึ้นจริงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใช้แรงงานจากมนุษย์โดยตรงน้อยลง แต่จะใช้มนุษย์ที่มีความรู้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์อัตโนมัติมากขึ้น

            ดร.เศรษฐพงศ์ ได้อธิบาย Blockchain ให้เข้าใจง่าย โดยยกตัวอย่างระบบการเลือกตั้งที่มีการแจกซองให้ผู้เลือกตั้ง 50 คน คนละ 50 ซอง โดยทุกคนเขียนเลขบัตรประชาชนของตนไว้ที่หน้าซอง และเขียนหมายเลขที่ต้องการเลือกลงในซอง หลังจากนั้นเก็บซองไว้ที่ตนเอง 1 ซอง ส่วนที่เหลือแจกเพื่อนอีก 49 คน ดังนั้น แต่ละคนจะมีซองอยู่ในมือคนละ 50 ซอง ซึ่งข้อมูลจะต้องตรงกัน หากข้อมูลในซองใดไม่ตรงกับของคนอื่น จะต้องหาฉันทามติ และหากจะแก้ไข ต้องแก้ไขทุกซอง จึงทำให้ข้อมูล มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นตัวกลาง ดังนั้น Blockchain จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เป็นตัวกลางทั้งหมด โดยอนาคตมนุษย์ยังคงทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่จำเป็นต้องทำที่ตู้เอทีเอ็มหรือสาขาของธนาคารอีกต่อไป ธนาคารแบบดั้งเดิมอาจถูกลืมไปตลอดกาล กลายเป็นธนาคารล่องหน
            เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ระบบธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตาม งานที่มีอยู่เดิมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน แม้แต่งานตรวจสอบ การทำบัญชีในอนาคตจะแตกต่างจากปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และผู้ที่มีทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แต่การศึกษาในปัจจุบันกลับเป็นสิ่งโบราณ ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากเด็ก Gen Z และ Gen Alpha จะไม่เรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป องค์กรธุรกิจจะตั้งมหาวิทยาลัยเอง โดยไม่ให้ความสำคัญว่าผู้สมัครงานจะจบการศึกษาจากที่ใด ขอให้มีประสบการณ์ทุกธุรกิจจึงต้องวางกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของ Gen Z และ Gen Alpha นี้ ซึ่งกำลังเติบโตมากับระบบใหม่ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ในระดับฐานรากเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบงานอิสระ และจะสร้างธุรกิจใหม่มูลค่ามหาศาล ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ จากการที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลอันมหาศาลแบบเรียลไทม์ และเชื่อมต่อกับธุรกิจต่าง ๆ จากทั่วมุมโลกด้วยสามาร์ทโฟน จนทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกมากขึ้น
            ความไม่เชื่อมั่นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวขององค์กรและผู้ตรวจสอบ ดังนั้นการยืดหยุ่นทางความคิด มีมุมมองเชิงบวก ว่าเทคโลยีมิได้มาทดแทน แต่มาช่วยเสริมสร้างงานตรวจสอบ และพร้อมที่ปรับตัวให้เป็นผู้ตรวจสอบสำหรับอนาคต จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในยุค Digital Transformation กลับมาพบกันกับสรุปสาระสำคัญจากการเสวนาความท้าทายของผู้ตรวจสอบกับเทคโนโลยี AI และ Blockchain ในฉบับต่อไป แล้วพบกันค่ะ


โดย..ผศ.ขวัญหทัย มิตรภานนท์
คณะทำงานโครงการพัฒนาหลักสูตรการอบรมด้านการตรวจสอบภายใน


Post Date :
28 Apr 2020 16:22:42
 2957
Visitor
Create a website for free Online Stores