ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่สถานการณ์อื่น ๆ ก็ยังอยู่ในช่วง ทรง ๆ ทรุด ๆ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย เราจะเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าฟีดข่าวในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หลายบริษัท หลายผู้ประกอบการสั่งปิดกิจการเนื่องจากพิษ COVID-19 ทำให้มีลูกจ้างที่ตกงานเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ สายอาชีพ และสายอาชีพบัญชีอย่างเราก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน TFAC Newsletter ฉบับนี้ จึงอยากนำเสนอกรณีพนักงานถูกเลิกจ้าง หรือให้ออกจากงาน โดยไม่ได้มาจากความผิดของพนักงาน หรือลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเพื่อให้มีเงินใช้ในระหว่างที่ว่างงานลง หรือเป็นเงินทุนในการหางานใหม่อย่างไร
ซึ่งเงินค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องชดเชยให้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. เงินค่าตกใจ ในกรณีของการที่เราถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกให้รู้ก่อนล่วงหน้าหรือบอกล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นายจ้างนั้นจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน
2. เงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง ในกรณีถูกให้ออกจากงานโดยที่ไม่มีความผิดและไม่สมัครใจจะออก ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเดือนและอายุของการทำงาน ยิ่งอยู่กับบริษัทมานานก็จะยิ่งได้ค่าชดเชยมาก โดยนายจ้างต้องเป็นคนจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นค่าชดเชยที่คำนวณจากอายุงานของลูกจ้างเอง
120 วัน - 1 ปี | 30 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 1 เดือน |
1 - 3 ปี | 90 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 3 เดือน |
3 - 6 ปี | 180 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6 เดือน |
6 - 10 ปี | 240 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 8 เดือน |
10 - 20 ปี | 300 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 10 เดือน |
20 ปี ขึ้นไป | 400 วัน | ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน |