• Home

  • What’s News

  • การบริหารบัญชีครัวเรือนในสถานการณ์“ความไม่แน่นอน”

การบริหารบัญชีครัวเรือนในสถานการณ์“ความไม่แน่นอน”

  • Home

  • What’s News

  • การบริหารบัญชีครัวเรือนในสถานการณ์“ความไม่แน่นอน”

การบริหารบัญชีครัวเรือนในสถานการณ์“ความไม่แน่นอน”

           
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมสนทนากับกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัยเด็กเล็ก เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การบริหารค่าใช้จ่ายและจัดการทางการเงินของครอบครัว โดยครอบครัวที่ร่วมพูดคุยกันนั้นมีอาชีพที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป ทางสายผู้สอบบัญชีก็มีนะคะ แต่สิ่งที่ทุกบ้านมีความเห็นไปในทางเดียวกันนั้น คือ ในช่วงปีนี้ไปจนถึงปีสองปีข้างหน้ายังถือว่าเราต่างอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หลัก ๆ จาก Covid-19 ที่รอบโลกนั้นยังไม่เบาลงเลย ผู้ติดเชื้อทั่วโลกก็น่าจะเข้าสู่ห้าสิบล้านคนในไม่ช้านี้ แถมประเทศที่เคยคุมได้ก็วนเวียนวนเกิดการระบาดระลอกใหม่อีก ผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล บางครอบครัวต้องรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันโดยไม่ได้ตั้งตัวมาก่อนความคิดเห็นและประสบการณ์จริงที่แต่ละบ้านมาแลกเปลี่ยนกันนั้น มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและอยากนำมาแบ่งปันดังนี้

เรื่องเรียนของลูก
            ขอแยกเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน ยังไม่นับเรียนเสริมข้างนอก พบว่าโรงเรียนมีหลายแบบหลายแนวให้เลือกสรร และราคาต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเกิน MAT แน่นอน ดังนั้น บิดามารดา จงคิดให้ดีค่ะพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบด้านอื่น เช่น การเดินทางหรือแนวที่ถูกจริตกับครอบครัวเราจริง ๆ เรื่องบางเรื่องตีเป็นตัวเงินไม่ได้ โดยเฉพาะหากมันกระทบกับคุณภาพชีวิตหรือจิตใจของลูก และอย่าลืมวางแผนแบบยาวจะเรียนที่นี่กี่ปี คูณไปให้ครบเราสามารถรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไหวไหม หรือลองดูทางเลือกอื่นที่ไม่ตึงเกินไป และยังตอบโจทย์ชีวิตด้านอื่นของครอบครัวด้วย กับอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือ ค่าใช้จ่ายเมื่อลูกเข้าเรียน มิได้มีเพียงค่าเรียนแต่ยังรวมถึงค่าชุด หนังสือ อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมจิปาถะ ไปจนถึงภาษีสังคมบางอย่างในรั้วโรงเรียน ซึ่งแตกต่างกันออกไปแล้วแต่โรงเรียนที่เราเลือก

การเรียนเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ
            นอกเหนือจากโรงเรียนหลัก ถ้าบอกว่ายังไม่จำเป็น ทัวร์จะลงดิฉันไหม อย่าพึ่งนะคะอย่างนี้ค่ะ ผู้ปกครองที่เราคุยกันในวงสนทนาบางบ้านได้รับผลกระทบโดยตรง สูญเสียรายได้กะทันหันจากสถานการณ์ Covid-19 และจนบัดนี้ยังไม่ฟื้นตัวเลย คุณพ่อคุณแม่ให้แนวคิดกับเราในแง่ของการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินสำหรับช่วงที่เศรษฐกิจยังคาดเดายากว่า มีเรื่องอื่นจำเป็นเร่งด่วนกว่าในการสำรองเงินไว้ ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การเรียนบางอย่างไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป เพราะพ่อแม่สามารถใช้เวลาคุณภาพฝึกลูกเองได้ขอเพียงขยันหาข้อมูลและมุ่งมั่นทำจริง คำพูดของคุณหมอพัฒนาการเด็กที่บอกไว้ว่า อย่าจ่ายเงินมากมายให้คนอื่นมาฝึกลูกเรา ยังจริงเสมอ ดังนั้น บางบ้านก็จะเหลือไว้เพียงคลาสที่จ่ายไหวและเป็นประโยชน์กับลูกจริง ๆ

จากเรื่องเรียน ไปที่การท่องเที่ยวบันเทิง
            ถึงความสำคัญจะเป็นคนละเรื่องกับการเรียนโดยสิ้นเชิงแต่เทียบเคียงแนวความคิดเห็นจากหลายบ้านได้ค่ะว่ายังคงอยู่ที่การ Priority ของแต่ละบ้าน โดยทางเลือกของการเที่ยวหรือกิจกรรมบันเทิงประจำครัวเรือนในประเทศนี้ถือว่ามีความแตกต่างหลากหลาย ให้เราได้เลือกแบบที่เหมาะกับครอบครัวเรา มีคำพูดติดตลกจากผู้ปกครองบ้านนึงว่าในสถานการณ์ Covid-19 เช่นนี้ก็ดีอย่าง เราตัดทางเลือกการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศออกได้เลย อย่างไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังไม่เสียดาย และไม่มีสิ่งล่อตาล่อใจใด ๆ เลย กลับไปสู่ไทยเที่ยวไทย ไปจนถึงการท่องเที่ยวแบบพอเพียง ลองดูจากความคุ้มค่าของสิ่งที่ได้รับกับต้นทุนที่ต้องเสียไป ก็จะพิจารณาได้ง่ายขึ้นค่ะ

การหารายได้เสริม
            จากเรื่องค่าใช้จ่าย เราก็กระโดดไปที่เรื่องการหารายได้บ้าง บางครอบครัวนั้นประสบภาวะรายได้ประจำหดหายไปนอกจากจะพยายามลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวแล้ว การมองหาลู่ทางเพิ่มรายได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดี ครอบครัวหนึ่ง คุณแม่ลุกขึ้นมาเรียนทำอาหารกับคุณยาย แล้วเปิดขายทางออนไลน์ในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา และไม่น่าเชื่อว่าจนปัจจุบันยังมีออเดอร์ไม่ตกเลย ครอบครัวนี้ให้ข้อคิดดี ๆ กับเราว่าเราไม่มีวันจะรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของเราเองเลย ตราบที่เรายังไม่ลงมือทำมัน และเมื่อเราได้สู้กับมันซักตั้งแล้ว ถึงได้รู้ว่า หัวใจของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าที่คิดและที่เป็นอยู่เสมอ นอกจากบ้านที่หารายได้เสริมด้วยการขายอาหารแล้วก็มีบ้านอื่น ๆ ที่งัดเอาความสามารถเฉพาะตัวหรือต้นทุนที่มีอยู่มาเป็นจุดขายหรือกระตุ้นยอดขายให้ธุรกิจของที่บ้าน ช่วงเวลานั้นได้ให้บทเรียนทางธุรกิจการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ การทำการตลาดด้วยวิธีต่าง ๆ จากประสบการณ์จริงให้กับหลายคนชนิดที่ว่า ตำราไหนก็ยังไม่เคยมีสอนมาก่อน
            โดยสรุปจากวงสนทนาพ่อแม่ คือ การวางแผนการเงินในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ ไม่มีสูตรสำเร็จ ตอบโจทย์แทนกันไม่ได้เพียงแต่มีแนวคิดว่า เราต่างต้องให้ความสำคัญและทำอย่างจริงจัง ตรวจสอบเงินคล่องกับเงินไม่คล่องของครอบครัว ลองลิสต์ดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่เราต้องใช้เงินสด เช่น ค่ากินอยู่ ใช้จ่ายประจำวัน ค่าเรียน ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ค่าประกัน ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องมีสำรองไว้เพื่อนำออกมาใช้ง่าย ไม่ใช่อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ที่ต้องขาย หรือเงินฝากแบบ Fixed พิจารณาร่วมกับสัดส่วนเงินออมและเงินลงทุนตามความเหมาะสม เช่นเดียวกัน การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่ายต้องหาจุดสมดุลในแต่ละครอบครัว โดยเฉพาะการมีลูกนั้น การรักษาคุณภาพชีวิตของทุกคนในบ้าน ทำให้เราต้องคิดหน้าคิดหลังมากมาย ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเปิดอกคุยกันให้ทุกคนในครอบครัวรับรู้สภาพความเป็นจริง ช่วยกันคิดวางแผน หาทางออก แก้ปัญหาต่าง ๆ แม้แต่เด็ก ๆ เราสามารถสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ และขอความร่วมมือจากลูกได้นะคะ ความเข้มแข็งของครอบครัวจะทำให้เราผ่านทุกอย่างไปได้ด้วยดี และเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงค่ะ

            นอกเหนือจากเรื่องที่กล่าวมา ก็ยังมีการแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น บางบ้านมีการวางแผนต่อเติมขยายบ้าน ซื้อรถใหม่ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและกำลังเงินอีกครั้ง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ หากมีรายได้ประจำไม่แน่นอนก็อาจกระทบแผนการเงินของครอบครัวได้ รถหนึ่งคัน เมื่อซื้อแล้วค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ไหนจะประกันรถ น้ำมัน ค่าดูแลรักษา และแน่นอนถ้าคิดทางบัญชีแล้วก็มีค่าเสื่อมราคาตลอดอายุการใช้งาน ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่จะนำไปลงทุนต่อได้ ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนการเงินครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก

**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดย..คุณชยานันท์ คุณาไทย
คุณแม่ลูกสอง CPA ผู้มีประสบการณ์ด้าน HR
และทำงานการตลาดในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง

Post Date :
9 Nov 2020 14:58:43
 3092
Visitor
Create a website for free Online Stores