[ ธุรกิจหนูถีบจักร ]
ค่าทำบัญชีถูกและง่าย...
อาจมีราคาที่ต้องจ่ายซ่อนอยู่
.
เรื่องของชายหนุ่ม 2 คนที่มีบางอย่างเหมือนกัน เช่น ต่างมีธุรกิจเป็นของตนเองเหมือนกัน, ต่างคนต่างก็ใช้วิธีตัดราคาในการหาลูกค้าเหมือนกัน, และสุดท้ายทั้งสองก็ต่างเจอกับปัญหา และพบจุดจบคล้าย ๆ กัน
***
เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องเล่าที่มาจากกรณีศึกษาจริง โดยชื่อของตัวละคร สถานที่และชื่อของบริษัทในข้อเขียนนี้เป็นชื่อสมมติ หากบังเอิญพ้องหรือบังเอิญตรงกับเรื่องราวจริงของท่านใด ทางสภาวิชาชีพบัญชีต้องขออภัยมาในที่นี้
.
[ 1 ]
เรื่องของนนท์
‘นนท์’ มีพ่อเป็นนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตามนนท์ไม่มีความรู้และไม่คิดจะสานต่อกิจการของพ่อ
เขาจึงเลือกเรียนศิลปะและทำงานเป็นนักออกแบบสื่อหรือกราฟิกดีไซน์มาตลอด
เมื่อไม่นานมานี้ นนท์เพิ่งตัดสินใจหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทกราฟิกเฮ้าส์ เพื่อรับออกแบบสื่อ รวมถึงผลิตวิดีโอและแอนิเมชันเป็นของตัวเอง เพราะช่วงหลังมานี้เขาสามารถเจาะตลาดเข้ารับงานผลิตวีดีโอโฆษณาให้กับกลุ่มบริษัท SMEs ขนาดกลางที่ขายสินค้าความงามได้
ตลาดนี้เป็นตลาดที่ใหญ่ และมีผู้เล่นเข้าออกในตลาดจำนวนมาก ยิ่งกลุ่มเจ้าของ SMEs เป็นกลุ่มที่เจ้าของทำเองบริหารเองตัดสินใจเองด้วยแล้ว การที่นนท์จะเข้าหาเจ้าของและนำเสนองานพร้อมราคาการผลิตของเขาก็ยิ่งง่าย เพราะไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมายเหมือนเข้าเสนองานกับบริษัทใหญ่
ความที่เป็นคนหน้าตาบุคลิกดี แถมมีนิสัยนอบน้อม นนท์จึงเป็นที่ถูกใจของลูกค้าหลายราย ทำให้เขาได้งานมาเป็นกอบเป็นกำ และยิ่งนนท์ใช้วิธีลงมือทำงานเองและไม่มีพนักงานประจำแต่จ่ายงานออกให้ฟรีแลนซ์มารับช่วง ก็ยิ่งทำให้นนท์มีต้นทุนต่ำจนสามารถตัดราคาคู่แข่งได้เกือบทุกราย
‘งานดี ตียอดวิวกระจาย
ส่งไว ราคาถูก แถมแก้กี่ครั้งก็ได้
ไม่มีนินทาลูกค้าลับหลัง’
ประโยคสโลแกนประจำตัวของนนท์ ประโยคนี้ใช้สร้างความประทับใจได้ดีเสมอเวลาที่เขาไปพรีเซนต์งานกับลูกค้า
แต่อย่างไรก็ตาม...
แม้นนท์จะมีลูกค้าจ้างออกแบบและผลิตโฆษณาเยอะ แต่การตัดราคาเพื่อให้ได้งานก็ทำให้เขามีกำไรไม่เยอะมาก ยิ่งเป็นแบบนี้นนท์ก็เริ่มเหมือน
'หนูถีบจักร'
นั่นคือ เขาต้องออกวิ่งหางาน ตัดราคาเข้ามาในบริษัทให้ได้ตลอด ยิ่งหามาก บริษัทของนนท์ก็ยิ่งมีรายละเอียดทางบัญชีมากมายที่ต้องจัดการ
งานบัญชีนั้น เรียกได้ว่าเป็นคนละโลกกับโลกของนนท์เลย พูดง่าย ๆ คือนนท์ทั้งไม่มีความรู้ ทั้งไม่สนใจมันเลยด้วยซ้ำ ที่ต้องทำก็เพราะแค่ให้มันถูกต้องไม่ผิดกฎหมายเท่านั้นเอง
ในทีแรก คุณพ่อของนนท์แนะนำให้นนท์ใช้บริการสำนักงานบัญชีใหญ่แห่งหนึ่ง
ที่บริษัทของพ่อใช้มาตลอด แต่ความที่นนท์ไม่มีความรู้เรื่องบัญชีเลย และคิดว่างานบัญชีเป็นเรื่องไม่สำคัญ เขาจึงตัดสินใจไม่ใช่บริการสำนักงานบัญชีที่พ่อแนะนำ
แต่นนท์เลือกจ้าง ‘วัฒน์’ เพื่อนของเพื่อนที่เป็นนักบัญชีและเพิ่งเริ่มเปิดสำนักงานบัญชีเล็ก ๆ ของตัวเองแทน
เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ ค่าจ้างของสำนักงานบัญชีของวัฒน์นั้นถูกกว่าบริษัทที่พ่อแนะนำ และหนำซ้ำ ยังถูกกว่าบริษัทที่วัฒน์เคยทำงานอยู่ก่อนออกมาตั้งบริษัทเองด้วย
.
[ เรื่องของวัฒน์ ]
'วัฒน์' เป็นคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับนนท์ และเขาก็เพิ่งตัดสินใจเปิดกิจการ ‘สำนักงานบัญชี’ ของตัวเองเหมือนกัน
แม้สิ่งที่วัฒน์ทำจะเรียกว่าสำนักงานบัญชี แต่จริง ๆ แล้วองค์กรแห่งนี้มีพนักงานเพียงสองคน คือ ตัววัฒน์เองและผู้ช่วยเท่านั้น นอกจากนั้น วัฒน์จะใช้การจ่ายงานออกไปให้ฟรีแลนซ์หลายคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบทำในราคาไม่แพง
.
ตอนที่วัฒน์รู้จักกับนนท์นั้น เขายังเป็นพนักงานของสำนักงานบัญชีอื่นอยู่ สำนักงานแห่งนั้นเป็นสำนักงานบัญชีขนาดเล็กที่หางานโดยใช้วิธีการตัดราคาแข่งกับสำนักงานขนาดใหญ่ ทำให้ที่นี่มีลูกค้า SMEs เป็นกลุ่มลูกค้าหลักโดยเฉพาะลูกค้าในธุรกิจสินค้าเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน
วัฒน์ทำงานที่สำนักงานนี้ได้สักพัก
เขาก็เรียนรู้และค้นพบว่าหัวใจในการทำกิจการของสำนักงาน ที่เขาทำอยู่นั้นไม่มีอะไรมากนอกจากใช้การตัดราคา และจ่ายงานให้คนทำงานที่ราคาจ้างไม่แพงมาช่วยทำ
เรียนรู้ได้สักพัก ความที่อยากเติบโตวัฒน์จึงมีความคิดว่าเขาเองก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการสำนักงานบัญชีเองได้ด้วยวิธีเดียวกัน
วัฒน์ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนสำนักงานมาเสนองานให้กับนนท์ วันนั้นพอนำเสนองานเสร็จ วัฒน์ลองตัดสินใจเสนอบริการในราคาที่ต่ำกว่าในนามของเขาเองให้กับนนท์
แน่นอน
นนท์พอใจกับข้อเสนอของวัฒน์ทันที วันนั้น วัฒน์ได้ลูกค้ารายแรกเป็นของเขาเอง ไม่นานเขาก็ตัดสินใจลาออกจากสำนักงานเดิม และเริ่มก่อตั้งกิจการของเขาเอง
วัฒน์รู้ดีว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่สู้จะถูกต้องนักในเรื่องของมารยาทและจริยธรรมการทำงาน อย่างไรก็ตาม เขาเลือกที่จะไม่สนใจ วัฒน์ได้แต่คิดเพื่อให้ตัวเองสบายใจว่า
‘นี่มันยุคไหนแล้ว ถ้าเราไม่ทำเพื่อตัวเองก็ไม่มีใครมาช่วยเรา เวลาลำบากหรอก’
และกับราคางานที่วัฒน์ตัดจนค่อนข้างต่ำมาก ๆ จากมาตรฐานทั่วไป วัฒน์ก็ได้แต่บอกตัวเองว่า
‘ไม่เป็นไรหรอก กำไรน้อย แต่งานเยอะ เดี๋ยวจ้างเด็กถูก ๆ มาช่วยทำงานเอา ยอมเหนื่อยหน่อย เดี๋ยวก็รวย’
แน่นอน...
การเริ่มต้นกิจการของวัฒน์นั้นไปได้ดี เหมือนคำโบราณที่พูดถึง ‘โชคดีของผู้เริ่มต้น’ ซึ่งแปลว่า ทุก ๆ คนที่ตัดสินใจลองก้าวไปในเส้นทางใหม่ของชีวิตนั้นมักจะได้รับโชคในตอนเริ่มต้นเสมอ
วัฒน์เริ่มต้นจากนนท์ จากนั้นเขาก็เริ่มมีลูกค้ารายใหม่ ๆ ที่สนใจบริการของ 'สำนักงานบัญชี’ ซึ่ง 'ถูก-ไว-ง่าย-ไม่เรื่องมาก' จนบอกต่อ ๆ กันไป
ไม่นาน...วัฒน์ก็งานล้นมือ เขารับงานไม่เลือกไม่ว่าลูกค้าจะเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างทางธุรกิจแบบไหนก็ตาม วัฒน์ก็รับหมด
ยิ่งงานเยอะ วัฒน์ก็เริ่มจ้างเด็กจบใหม่หรือแม้แต่นักศึกษาบัญชีมาช่วยงานมากขึ้นอีก แน่นอนว่า นักบัญชีที่ไม่มีประสบการณ์นั้นย่อมสร้างความผิดพลาดเกิดขึ้น โดยเฉพาะในการทำงานบัญชีของธุรกิจที่มีโครงสร้างและรายละเอียดแตกต่างกันมาก ๆ
บางครั้งทีมงานของวัฒน์ทำงานไม่ทันเพราะวัฒน์รับงานมาปริมาณมาก จึงเกิดความผิดพลาด เช่น ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ได้งบการเงินที่ไม่ถูกต้อง บางครั้งทำงานล่าช้าส่งผู้สอบบัญชีไม่ทัน วัฒน์ก็ตัดสินใจใช้วิธีการปลอมลายมือชื่อผู้สอบบัญชีด้วยตนเอง
วัฒน์เอาแต่วิ่งหางาน ๆ ๆ
เขากำลังเป็น 'หนูถีบจักร' ไม่ต่างจากนนท์
วัฒน์กับนนท์เข้าสู่วงจรเดียวกันจากสาเหตุเดียวกันนั่นคือ เขาเลือกทำธุรกิจโดยการตัดราคา ด้วยความโลภและความเข้าใจผิดเข้าใจว่ากำไรน้อย แต่งานเยอะคือทางออกของธุรกิจ
.
[เรื่องของหนูถีบจักร ]
หนูถีบจักรนั้น...แม้ว่ามันจะวิ่งเร็วเท่าไหร่หรือวิ่งไปนานเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วตัวมันยังคงอยู่ที่เดิมไม่ได้ไปไหนเลย มีแต่ก้มหน้าทำสิ่งซ้ำ ๆ วนไปมารอวันวิ่งสะดุด หกล้ม หรือไม่ก็หมดแรงแล้วก็ต้องออกมาจากกงล้อ
ธุรกิจแบบหนูถีบจักรก็เช่นกัน...
หลังจากผ่านช่วง ‘โชคดีของผู้เริ่มต้น’ ได้ไม่นาน
ธุรกิจของนนท์และวัฒน์ก็เจอปัญหา
วันหนึ่ง
นนท์ได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับการยื่นภาษีล่าช้าและการนำส่งข้อมูลเท็จ นนท์ตกใจมากเพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย และคิดว่าวัฒน์ได้จัดการทุกอย่างให้เขาอย่างถูกต้องแล้ว
นนท์พยายามติดต่อกับวัฒน์ แต่ติดต่อไม่ได้ เขาร้อนใจจึงสอบถามเพื่อนที่แนะนำวัฒน์ให้รู้จักและตามไปหาวัฒน์ที่สำนักงาน
เมื่อไปถึงสำนักงานของวัฒน์ซึ่งเป็นเพียงห้องเช่าเล็ก ๆ ชั้นหนึ่งใต้แฟลตเก่า ๆ นนท์ก็พบว่ามันปิดอยู่และดูเหมือนว่าจะปิดกิจการ
วัฒน์ไม่อยู่แล้ว...
ในเวลาเดียวกันนั้น อีกซีกหนึ่งของประเทศ วัฒน์กำลังขับรถออกนอกเมืองเพื่อกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด เขาตั้งใจจะกลับไปนอนบ้านพ่อแม่เพื่อตั้งหลัก และเพื่อสงบสติอารมณ์
เกิดอะไรขึ้นกับวัฒน์...
สองวันก่อนหน้านั้น วัฒน์เพิ่งพบว่าเขาโดนผู้ช่วยของเขาหักหลังเช่นเดียวกับที่เขาเคยทำกับสำนักงานเก่ามาก่อน ผู้ช่วยคนเดียวของเขาคนนี้ แอบแยกตัวออกไปตั้งสำนักงานบัญชีเอง และแข่งขันโดยตัดราคาค่าบริการลงไปอีกเพื่อขโมยลูกค้าเก่าและใหม่ไปจากวัฒน์
ไม่แค่นั้น...
กับลูกค้ารายเก่าหลายรายที่ทีมงานมือใหม่ของวัฒน์ทำงบการเงินผิดพลาด (โดยที่วัฒน์ไม่ได้ตรวจสอบ) รวมถึงบางรายที่วัฒน์เคยปลอมลายมือชื่อผู้สอบบัญชีเองเพราะอยากลัดเวลา โดยไม่คำนึงถึงการกระทำความผิดจากการปลอมลายมือชื่อซึ่งมีความผิดทั้งด้านจรรยาบรรณและด้านอาญา เมื่อพวกเขาได้รับผลกระทบและได้ทราบความจริง พวกเขาต่างก็เลยระดมฟ้องร้องเป็นคดีความเอาผิดกับวัฒน์เป็นจำนวนหลายราย ทำให้ตอนนี้สำนักงานบัญชีที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วของวัฒน์ จู่ ๆ ก็หยุดชะงักและมีแนวโน้มจะจบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
วัฒน์ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไปกับเขา เขารู้แต่ว่าสิ่งที่เขากลัวที่สุดคือคดีความ
และการเสียเครดิตชื่อเสียง ซึ่งจะทำให้เขาหางานทำยากกว่าเดิมและอาจหมดอนาคตได้ในวงการนี้
...
...
‘นนท์’ นั้น แม้พื้นฐานจะเป็นคนมีฝีมือในการออกแบบ แต่ตอนนี้ธุรกิจของเขาก็ต้องชะงักลง เหมือนหนูถีบจักรที่สะดุดขาตัวเอง นนท์ต้องเสียเวลามาทำเรื่องฟ้องร้องวัฒน์ และหาทางแก้ไขความผิดพลาดของงบการเงินที่นำส่งในอดีตให้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันงานที่มีอยู่ในมือเมื่อตัดราคามาก็แทบไม่มีกำไร หนำซ้ำเขายังไม่มีเวลาไปหางานเพิ่มอีก
นนท์...นึกย้อนแล้วก็ผิดหวังตนเองเหมือนกันที่เขาไม่ให้ความสำคัญกับงานบัญชี และเลือกไม่เชื่อคำแนะนำจากพ่อเรื่องสำนักงานบัญชีที่มีเครดิตน่าเชื่อถือ ตอนนี้จึงได้รับผลกระทบจากการเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายของตัวเอง
...
[ ข้อเตือนใจ ]
ในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง และมีผู้ประกอบการใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย การจัดทำบัญชีนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเลือกใช้บริการของสำนักงานบัญชีนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรพิจารณานั้น คือคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่มองแต่ราคาที่เน้นเอาประหยัดเพียงอย่างเดียว เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาราคาและความเสียหายที่ผู้ประกอบการต้องพบเจอนั้น คือสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอน
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นคือธุรกิจที่มีรากฐาน และรากฐานที่แข็งแรงของธุรกิจรากหนึ่งคือการบัญชี โดยรากแก้วนี้จะแข็งแรงได้ ก็ไม่ใช่แค่เพราะความเก่งกาจของนักบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่จริยธรรมในการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบคือสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เอาแต่คิดเรื่องผลประโยชน์ หรือการหางานของตนเอง
การเลือกสำนักงานบัญชีนั้น นอกจากจะเลือกตามเครดิตที่น่าเชื่อถือแล้ว สิ่งที่เจ้าของกิจการควรพิจารณาคือ สำนักงานบัญชีนั้นจะต้องมีประสบการณ์เชี่ยวชาญในการทำบัญชีในธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของเราด้วย เพราะธุรกิจที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน ย่อมมีรายละเอียดและข้อควรระวังที่แตกต่างกัน
หากผู้อ่านท่านใดมีกรณีสงสัย ต้องการแจ้งข่าวสาร หรือสนใจขอคำแนะนำเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพบัญชี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่
.
👉 จัดทำโดย คณะอนุกรรมการกำหนดจรรยาบรรณ
พบกับตอนถัดไป เร็วๆ นี้
..