• Home

  • What’s News

  • Storytelling EP.4 [ แผลเปิด ] เราจะทำอย่างไร...เมื่อบังเอิญค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไป

Storytelling EP.4 [ แผลเปิด ] เราจะทำอย่างไร...เมื่อบังเอิญค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไป

  • Home

  • What’s News

  • Storytelling EP.4 [ แผลเปิด ] เราจะทำอย่างไร...เมื่อบังเอิญค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไป

Storytelling EP.4 [ แผลเปิด ] เราจะทำอย่างไร...เมื่อบังเอิญค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไป



[ แผลเปิด ]
🩹เราจะทำอย่างไร...เมื่อบังเอิญค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเป็นความลับอีกต่อไป🩹
เรื่องราวของ 'ผู้สอบบัญชี’ ที่มีความสามารถและประสบการณ์สูง ผู้บังเอิญพบว่าในเครือบริษัทของลูกค้ารายใหญ่ของเธอนั้น อาจกำลังมีธุรกิจผิดกฎหมายซ่อนอยู่
 
*** เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องเล่าที่มาจากกรณีศึกษาจริง โดยชื่อของตัวละคร สถานที่และชื่อของบริษัทในข้อเขียนเป็นชื่อสมมติ หากบังเอิญพ้องหรือบังเอิญตรงกับเรื่องราวจริงของท่านใด ทางองค์กรฯ ต้องขออภัยมาในที่นี้
[1]
👩‍🦰 ‘ชลัฎพร’ เป็นผู้สอบบัญชีที่มีประสบการณ์ของสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ความเชี่ยวชาญในงาน รวมถึงประสบการณ์จำนวนมาก ทำให้เธอไม่ได้เป็นแค่ผู้สอบบัญชีที่แม่นยำ แต่เธอเป็นผู้สอบบัญชีที่สามารถให้ 'คำปรึกษา' ที่มีประโยชน์กับเจ้าของกิจการได้อย่างดีด้วย พูดง่าย ๆ ว่า ชลัฎพรเป็นผู้สอบบัญชีคนสำคัญของสำนักงานสอบบัญชีและเป็นที่ต้องการตัวลำดับต้นๆ ของลูกค้ารายใหญ่
หลายราย

👉อย่างไรก็ตาม ชลัฏพรไม่ได้เก่งกาจมาตั้งแต่เกิด ที่ผ่านมาเธอเคยทำงานอยู่หนึ่งครั้ง และเป็นความผิดพลาดที่เธอยังรู้สึกแย่อยู่เสมอเวลานึกถึงมัน

หลายปีก่อน...สมัยที่ชลัฏพรเพิ่งเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีเป็นครั้งแรก มีอยู่หนหนึ่งเธอตรวจเอกสารแล้วเข้าใจว่าข้อมูลที่ปรากฏน่าจะ
บ่งบอกถึงการทุจริตในบริษัทของลูกค้า

ในตอนนั้นเธอยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ความตื่นเต้นจึงรีบเอาเรื่องนี้ไปบอกเพื่อนผู้ช่วยผู้สอบบัญชีคนอื่น ข่าวสารจากความใจร้อนและไม่สำรวจให้รอบคอบนั้นถูกบอกต่อไปจนทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ ยิ่งปรากฏว่าจริง ๆ แล้วบริษัทไม่ได้มีการทุจริตแต่อย่างใด แต่เป็นแค่
ความผิดพลาดทางเอกสารและการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานเท่านั้น ชลัฏพรจึงถูกตักเตือนอย่างหนัก และต้องยอมรับผลการไม่ผ่านการทดสอบการทำงานกับสำนักงานสอบบัญชีแห่งนั้น

ตอนแรกชลัฏพรผิดหวังในตัวเองมาก เธอเสียใจจนคิดจะหันหลังให้วิชาชีพนี้และเปลี่ยนอาชีพใหม่ เธอคิดอยู่หลายวันแล้วตัดสินใจว่า เธอจะไม่ยอมทิ้งอาชีพที่เธอรัก เธอจะไปต่อ...แม้ความผิดพลาดครั้งนี้จะทำให้มีประวัติด่างพร้อย เหมือนมีรอยแผลเป็น แต่เธอจะไม่ยอมให้มีความผิดพลาด
เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

👉หลังจากนั้น ชลัฏพรจึงกลายเป็นคนจริงจังเคร่งครัดในการทำงานอย่างมาก เธอเข้าอบรมความรู้ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ เข้ารับ
การศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง สมัครเข้าทำงานในสำนักงานสอบบัญชีแห่งใหม่ ทำงานอย่างหนักโดยไม่ยอมให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีกเลย
ทุกวันนี้ แม้ชลัฏพรจะกลายเป็นผู้สอบบัญชีในสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว แต่ลึก ๆ ในบางครั้ง เวลานึกถึงความผิดพลาดในอดีต เธอก็ยังรู้สึกผิดและผิดหวังตัวเองอยู่ไม่น้อย

[2]
วันหนึ่ง ชลัฎพรได้รับมอบหมายจากสำนักงานสอบบัญชีให้ดูแลตรวจสอบบัญชีลูกค้ารายใหม่ ลูกค้ารายนี้เป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ที่มีบริษัทลูกหลายบริษัท งานสเกลใหญ่แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ชลัฎพรต้องกังวล เพราะเธอคุ้นเคยกับงานสเกลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอยังคงมี 👱‍♀️ ‘นุช’ ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีคนเก่งที่เธอไว้ใจพร้อมกับคนอื่น ๆ ในทีมที่คุ้นเคยมาทำงานนี้ด้วยกัน แต่แค่เริ่มจับงานไปไม่นาน เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น...

หลังการประชุมทีมผู้สอบบัญชีครั้งหนึ่ง นุชเดินมาขอปรึกษาบางอย่างกับชลัฎพรและเล่าว่า ระหว่างที่เธอตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ ของบริษัท
เธอพบว่ามีเอกสารบางส่วนมีความขัดแย้งกับเอกสารอื่น ๆ และทำให้เธอเกิดข้อสงสัยว่ากลุ่มบริษัทนี้อาจมีพฤติกรรมฟอกเงินได้❗

ชลัฎพรไม่ถึงกับตกใจหรือปักใจเชื่อในสิ่งที่นุชบอก เพราะเธอเคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อน แต่สิ่งเดียวที่ชลัฏพรถามนุชกลับอย่างจริงจังคือเธออยากรู้ว่านุชบอกข้อสงสัยนี้กับใครหรือยัง นุชตอบชลัฎพรว่าเธอกำลังคิดว่าจะปรึกษา 👨 ชรัส ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่เป็นเพื่อนสนิทของเธอที่ทำงานในสำนักงานสอบบัญชีอีกแห่งหนึ่ง

ชลัฏพรรีบปรามนุชไว้ เนื่องจากหากนุชนำข้อมูลดังกล่าวไปบอกเพื่อน จะถือว่าผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพในเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า และชลัฏพรได้ให้คำแนะว่า ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีเจอข้อสงสัยว่าลูกค้าอาจจะมีการละเมิดกฎหมายนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือเก็บข้อมูลให้เป็นวงแคบที่สุดและตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากมุมต่าง ๆ ก่อนเป็นสำคัญ เพราะถ้าแพร่งพรายข้อมูลที่เรายังไม่แน่ใจออกไป หากเป็นความเข้าใจผิดของเราเอง และหากข้อมูลนั้นมีผลกระทบกับการดำเนินกิจการของบริษัท เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นทั้งการผิดข้อบังคับ การผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ และเป็นประวัติที่ไม่ดีของนุชได้ นุชเข้าใจและทำตามที่ชลัฏพรแนะนำทันที

👉หลังจากวันนั้น ชลัฏพรกับนุชใช้เวลาร่วมกันเรียนรู้ทำความเข้าใจการทำงานของบริษัทที่มีข้อพิรุธ ค้นดูเอกสาร ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ จนพบว่าข้อสงสัยของนุชมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นจริง กลุ่มบริษัทนี้น่าจะมีการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย และผู้ที่อยู่ในขอบเขตสงสัยว่าจะมีส่วนในการทำความผิดนี้น่าจะเป็น CEO และ CFO ของบริษัท⚠

ดังนั้น คนต่อไปที่ทางผู้สอบบัญชีอย่างเราต้องเข้าไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในองค์กรก็คือ ‘ผู้บริหาร’ และ/หรือ ‘ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลของกิจการ หรือ กรรมการตรวจสอบ’ และต้องเป็นผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงกว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างน้อยหนึ่งระดับ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าข้อสงสัยอยู่ที่ ‘CEO และ CFO’ ก็แปลว่าคนที่เราควรต้องทำนัดหมายเข้าไปปรึกษาหารือก็คือ ‘กรรมการตรวจสอบ’ ของกลุ่มบริษัทนั่นเอง

นุชเข้าใจที่ชลัฏพรสอน เธอจึงเตรียมเอกสารและทำนัดหมายกับกรรมการตรวจสอบของบริษัทเพื่อเข้าไปพบและชี้แจงข้อสงสัยที่ผู้สอบบัญชีพบ และไม่กี่วันต่อมา ทั้งสองก็ได้เข้าไปประชุมส่วนตัวกับทางกรรมการตรวจสอบของกลุ่มบริษัทนั้น

ในการประชุม กรรมการตรวจสอบแสดงความตกใจและกังวลใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เขารับปากชลัฏพรและนุชว่าจะตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด และรับปากว่าถ้าพบผู้กระทำความผิดในบริษัทเขาจะจัดการเรื่องนี้และรายงานให้ทางผู้สอบบัญชีทราบทันที
 
วันนั้นนุชโล่งใจและดีใจ เธอรู้สึกเหมือนกับได้ลงมือปราบผู้ร้าย หรือไม่ก็ทำสิ่งยิ่งใหญ่สำเร็จ แต่ชลัฏพรยังไม่รู้สึกแบบนั้น ตามประสบการณ์ของเธอ ชลัฏพรรู้ดีว่าเรื่องนี้ต้องให้เวลาแสดงคำตอบออกมาว่ากรรมการตรวจสอบจะลงมือทำอย่างที่รับปากจริงหรือไม่ และจริงหรือที่เขาเองไม่เคยรับรู้การละเมิดกฏหมายในบริษัทนี้มาก่อน

[3]
⏲ เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์..
นุชและชลัฏพรก็ได้รับข่าวคราวความคืบหน้าส่งมาจากกรรมการตรวจสอบว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรับปรุงระบบการควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหามิให้เกิดขึ้นอีก และได้ลงโทษ CEO CFO และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเรียบร้อยแล้ว

👉 หลังจากเรื่องราวต่าง ๆ จบลง นุชรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมาก ส่วนชลัฏพรนั้น เธอได้รับคำขอบคุณและคำชื่นชมจากทั้งผู้บริหารของสำนักงานสอบบัญชี และกรรมการตรวจสอบของบริษัทลูกค้า
อย่างมาก ในการมีดุลยพินิจที่ดี มีการตัดสินใจที่เหมาะสม และดูแลปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทมาโดยตลอด และแน่นอน ชลัฏพรเริ่มรู้สึกว่าบาดแผลเก่า หรือความรู้สึกผิดที่เกิดจากการทำงานผิดพลาดเมื่อนานมาแล้วของเธอนั้น ตอนนี้มันได้หายสนิทแล้ว ✅
...
❎[ ข้อเตือนใจ ]
📌ผู้สอบบัญชีที่ดีนั้น ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเอกสารตามคำสั่งของผู้บริหารหรือลูกค้า แต่ผู้สอบบัญชีที่ดีมีหน้าที่ทั้งตรวจสอบความถูกต้อง ให้คำแนะนำกับฝ่ายบริหาร รายงานข้อผิดพลาด และรวมถึงดำเนินการยื่นคำร้องเมื่อพบการทุจริตในธุรกิจอีกด้วย
📌การรักษาความลับของลูกค้าเป็นจรรยาบรรณที่สำคัญของผู้สอบบัญชี แม้ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสงสัยว่าอาจมีการทุจริตในธุรกิจของลูกค้า ผู้สอบบัญชียังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลนั้นไว้ก่อน ไม่รีบนำไปบอกใครโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบเองจนถี่ถ้วน แต่ถ้าตรวจสอบจนมั่นใจว่าพบการทุจริตจริง ๆ ผู้สอบบัญชีเองก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อความถูกต้องด้วยเช่นกัน
📌ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยตามมาตรา 89/25 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้สอบบัญชีต้องพิจารณาดำเนินการตามข้อกำหนดในมาตรา 89/25 ด้วย
📌หากท่านใดมีกรณีสงสัย แจ้งข่าวสาร หรือสนใจขอคำแนะนำเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพบัญชี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่
e-Mail: ethics@tfac.or.th
 
จัดทำโดย คณะอนุกรรมการกำหนดจรรยาบรรณ
 
#เรื่องเล่าจากกรณีศึกษา
#6หลักพื้นฐานจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
#สภาวิชาชีพบัญชี
#ในพระบรมราชูปถัมภ์
#TFACfamily
Post Date :
16 Jul 2023 16:35:21
 2078
Visitor
Create a website for free Online Stores