• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • หลักการและตัวอย่างแนวทางการตรวจสอบประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9

หลักการและตัวอย่างแนวทางการตรวจสอบประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • หลักการและตัวอย่างแนวทางการตรวจสอบประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9

หลักการและตัวอย่างแนวทางการตรวจสอบประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือน กิจการที่ใช้ TFRSs ก็จะต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 มาตรฐานกลุ่มดังกล่าวกำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรม หรือราคาทุนตัดจำหน่ายโดยพิจารณาจากประเภทของตราสารทางการเงิน ลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาและแผนธุรกิจของกิจการ (Business Model) หลักการเกี่ยวกับวิธีการคำนวณการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน โดยใช้แนวคิดของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (“Expected Credit Loss: ECL”) และหลักการเกี่ยวกับการบัญชีป้องกันความเสี่ยง รวมถึงการแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน
            ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ การประเมินการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินโดยใช้แนวคิดของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (“ECL”) ตาม TFRS 9 เช่นการประเมินค่าเผื่อการด้อยค่าเงินให้กู้ยืมนั้นสามารถทำได้ทั้ง (ก) ผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 12 เดือน (“12-month ECLs”) ซึ่งหมายถึงผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ 12 เดือนนับจากวันที่ในรายงาน หรือ (ข) ผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุสัญญา (“Lifetime ECLs”) ซึ่งหมายถึงผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญา โดย Lifetime ECLs จะสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเครดิต ณ วันที่รับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก ซึ่งการประเมินว่าความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญหรือไม่ (บางครั้งเรียกว่า “การจัดชั้น”) อาจต้องใช้ข้อมูล วิธีการรวมถึงการคำนวณที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ การวัดมูลค่าของค่าเผื่อการด้อยค่าจะต้องคำนึงถึงการถัวเฉลี่ยด้วยความน่าจะเป็นที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (“Probability-Weighted Outcome”) มูลค่าของเงินตามเวลา (“Time Value of Money”) และข้อมูลที่ดีที่สุดที่สามารถหาได้เกี่ยวกับข้อมูลคาดการณ์อนาคต (“Forward Looking Information”) ด้วย
            ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการวัดมูลค่าของค่าเผื่อการด้อยค่าด้วยแนวคิด ECL นี้ ค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากต้องทำการประเมินว่าความเสี่ยงด้านเครดิตของสินทรัพย์หรือกลุ่มของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ รวมทั้งต้องประเมินว่าการวัดมูลค่า ECL ควรใช้วิธี 12-month ECLs หรือ Lifetime ECLs จึงจะเหมาะสม
            ในมุมของผู้ตรวจสอบบัญชีนั้น การตรวจสอบมูลค่าของรายการบัญชี (Valuation assertion) ที่เกี่ยวข้องกับการประมาณการค่าเผื่อการด้อยค่า ซึ่งต้องประเมิน “ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ECL” ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจที่สำคัญของผู้บริหารเกี่ยวกับการประมาณการทางบัญชี ซึ่งขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะของสินทรัพย์อ้างอิง ความซับซ้อนของวิธีการคำนวณ ECL และการใช้สมมติฐานรวมถึงข้อมูลนำเข้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่สังเกตไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สอบบัญชีที่ต้องทำความเข้าใจหลักการในการตรวจสอบรายการประมาณการทางบัญชี ซึ่งมี 6 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ระบุรายการประมาณการทางบัญชี ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดข้อผิดพลาดอันเป็นสาระสำคัญต่องบการเงินโดยรวม
  2. ทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้บริหารใช้ในการตั้งประมาณการทางบัญชี
  3. ระบุและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อผิดพลาดอันเป็นสาระสำคัญ
  4. ตอบสนองต่อความเสี่ยงที่ระบุในขั้นตอนที่ 3 โดยการทดสอบการควบคุม
  5. ตอบสนองต่อความเสี่ยงที่ระบุในขั้นตอนที่ 3 โดยการตรวจสอบเนื้อหาสาระ
  6. ประเมินหลักฐานการตรวจสอบสำหรับรายการประมาณการทางบัญชี


ขั้นตอนที่ 1
            ระบุรายการประมาณการทางบัญชี ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดข้อผิดพลาดอันเป็นสาระสำคัญต่องบการเงินโดยรวม โดยการทำความเข้าใจข้อกำหนดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ได้แก่ ขอบเขต การวัดมูลค่าเมื่อรับรู้รายการการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ รวมถึงวิธีการวัดมูลค่าเกี่ยวกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และประเมินผลกระทบจากการประเมินความเสี่ยง

ขั้นตอนที่ 2
            ทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้บริหารใช้ในการตั้งประมาณการทางบัญชี ได้แก่ การทำความเข้าใจวิธีการในการวัดมูลค่า (รวมถึงการใช้แบบจำลองและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง) การทำความเข้าใจข้อสมมติฐานที่ใช้ในการจัดทำประมาณการทางบัญชีและความไม่แน่นอนของประมาณการ การทำความเข้าใจการควบคุมที่เกี่ยวข้อง การทำความเข้าใจการใช้ผลงานของผู้เชี่ยวชาญของผู้บริหาร การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดทำหรือสมมติฐาน และการสอบทานประมาณการทางบัญชีในงวดก่อน

ขั้นตอนที่ 3
            ระบุและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อผิดพลาดอันเป็นสาระสำคัญ โดยพิจารณาว่ามีประมาณการทางบัญชีใดที่อาจมีระดับความไม่แน่นอนของประมาณการสูง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ และทบทวนการประเมินความเสี่ยงเมื่อพบข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการตรวจสอบ

ขั้นตอนที่ 4
            ตอบสนองต่อความเสี่ยงโดยการทดสอบการควบคุม โดยทดสอบความมีประสิทธิผลของการควบคุม เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อผิดพลาดอันเป็นสาระสำคัญ

ขั้นตอนที่ 5
            ตอบสนองต่อความเสี่ยงโดยการตรวจสอบเนื้อหาสาระ โดยวางแผนและกำหนดวิธีการตรวจสอบเนื้อหาสาระ ที่เหมาะสม รวมถึงการทดสอบวิธีการที่ผู้บริหารใช้ในการจัดทำประมาณการทางบัญชี โดยอาจใช้วิธีการตรวจสอบระหว่างกาล หรือการใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตรวจสอบ รวมทั้งสอบทานการเปิดเผยข้อมูล และพิจารณาความเหมาะสมและความสอดคล้องกันของหลักฐานการตรวจสอบที่ได้รับ

ขั้นตอนที่ 6
            ประเมินหลักฐานการตรวจสอบสำหรับรายการประมาณการทางบัญชี โดยผู้สอบบัญชีต้องได้รับหลักฐาน การตรวจสอบที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งสอบทานกระดาษทำการที่จดบันทึก และติดต่อสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล (“Those charged with governance”) เกี่ยวกับประมาณการทางบัญชีที่สำคัญ

ตัวอย่างแนวทางการตรวจสอบ มีดังนี้

  • ประเมินว่าวิธีการซึ่งรวมถึงแบบจำลองของผู้บริหารมีความเหมาะสม ทั้งการประเมินการจัดกลุ่มและการวัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • พิจารณาและระบุสมมติฐานที่สำคัญที่ผู้บริหารใช้ในการประมาณการ
  • ประเมินและทดสอบข้อมูลนำเข้าที่เกี่ยวข้องและสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยผู้สอบบัญชีควรปฏิบัติดังนี้
    - พิจารณาแต่ละข้อมูลนำเข้าและสมมติฐานว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่
    - พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมมติฐาน รวมถึงพิจารณาว่าสมมติฐานมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกันหรือไม่
    - พิจารณาว่าสมมติฐานสะท้อนถึงข้อมูลตลาดในปัจจุบันหรือไม่
    - พิจารณาว่าสมมติฐานมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อพิจารณาในภาพรวมร่วมกับสมมติฐานอื่น ๆ ที่ใช้ รวมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสมมติฐานที่ใช้สำหรับประมาณการทางบัญชีแบบเดียวกันและสมมติฐานที่ใช้สำหรับประมาณการทางบัญชีอื่น ๆ
    - ประเมินว่าผู้บริหารมีการพิจารณาสมมติฐาน หรือผลลัพธ์ที่เป็นทางเลือกอื่นหรือไม่ อย่างไร
  • ประเมินความครบถ้วน ความถูกต้อง และความเหมาะสมของข้อมูลนำเข้า รวมถึงองค์ประกอบหลักของสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้ในการคำนวณ
  • ทดสอบแบบจำลองที่ใช้ รวมถึงข้อมูลนำเข้าและความเหมาะสมตามหลักคณิตศาสตร์ในแต่ละขั้นของการคำนวณผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • สอบทานการใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารในการประมาณการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อประเมินว่ามีปัจจัยที่แสดงถึงความเป็นไปได้ที่ผู้บริหารจะมีอคติหรือไม่
  • สอบทานผลลัพธ์ (outcomes) ของประมาณการทางบัญชีที่ประมาณการและรับรู้ในงบการเงินงวดก่อนหน้า หรือการประมาณการใหม่ (subsequent re-estimation) สำหรับงบการเงินงวดปัจจุบัน (ถ้ามี)

            นอกเหนือจากหลักการและแนวทางการตรวจสอบตามที่ยกตัวอย่างข้างต้น ผู้สอบบัญชีควรศึกษาหลักการและ ข้อกำหนดในมาตรฐานการสอบบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 540 และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9

บรรณานุกรม :
IFRS 9 ‘Financial Instruments’ Enhanced Audit Content - Guide for the audit of financial instruments, Deloitte Touche Tohmatsu Limited, July 2018
Supplement to Accounting Estimates: A Practical Guide to Auditing - Impairment of Financial Instruments under IFRS 9, Deloitte Touche Tohmatsu Limited, September 2017

โดย..ดร.พิมลวรรณ ชยพรกุล
Deloitte Touche Tohmatsu
Jaiyos Audit Co., Ltd.

นายอัครชัย ลิขิตวิวัฒน์กุล
Deloitte Touche Tohmatsu
Jaiyos Audit Co., Ltd.

นายพรสรร ชินโชติอังกูร
Deloitte Touche Tohmatsu
Jaiyos Audit Co., Ltd.


โพสต์เมื่อ :
15 เม.ย. 2563 14:33:32
 20196
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์