นักบัญชีภาษีอากรกับภาษีประเภทต่าง ๆ

นักบัญชีภาษีอากรกับภาษีประเภทต่าง ๆ

            จากบทความก่อนหน้านั้นนักบัญชีภาษีอากรเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการปฎิบัติงานด้านการบัญชีภาษีอากรให้ถูกต้องด้านความต่างของบัญชีและภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วยังมีภาษีอื่นที่มีความสำคัญที่นักบัญชีภาษีอากรต้องเกี่ยวข้องอีก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีระหว่างประเทศ หากขาดความรู้แล้วอาจสร้างผลกระทบให้มีเบี้ยปรับเงินเพิ่มหรือสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีให้แก่องค์กรที่จะถูกมองว่าไม่ชำระภาษี จะยกตัวอย่างความเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดจากการขาดความรู้ในแต่ละภาษี ดังนี้ 

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
    - บริษัทประกอบธุรกิจขนส่งในประเทศ ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารมาเพื่อใช้ในกิจการขนส่งซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องคืนภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม กิจการขนส่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้
    - บริษัทเรียกเก็บเงินค่าเสียหายตามสัญญาพร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม7% และดำเนินการออกใบกำกับภาษี กรณีค่าเสียหายไม่ถือเป็นการขายสินค้าหรือบริการจึงไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องออกใบกำกับภาษี หากดำเนินการออกใบกำกับภาษีถือว่าออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกจะมีเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนั้นหากผู้รับใบกำกับภาษีนำไปใช้เป็นภาษีซื้อก็จะไม่สามารถใช้ได้อาจเกิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย

  2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
              การให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% อย่างไรก็ตามจะมีข้อยกเว้นให้หากเข้าเกณฑ์ตามคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ป.26/2534 คือ
              “กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
              คำว่า “บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม”
  3. ภาษีสรรพสามิต
              จุดความรับผิดในอันที่จะเสียภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 21(1)(ก) เกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปกติที่ปฏิบัติ แต่มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ระบุในมาตรานี้ซึ่งนักบัญชีภาษีอากร ควรคำนึงไม่ให้เกิดขึ้นผิดพลาด นั่นคือในกรณีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นก่อนนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ถือว่าความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
  4. ภาษีศุลกากร
              ในยุคปัจจุบันนี้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านสิทธิประโยชน์ของการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรของเขตการค้าเสรี ธุรกิจจำเป็นต้องใช้สิทธิประโยชน์นี้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนักบัญชีภาษีอากรควรได้ศึกษาหาความรู้เงื่อนไขสิทธิประโยชน์และแบบฟอร์มต่าง ๆที่ต้องดำเนินการที่จะใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง มีจุดใดที่ควรระวังโดยเฉพาะเรื่องของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า(Rules of Origin) เพราะหากผิดพลาดไปนอกจากจะไม่ได้สิทธิภาษีแล้วยังต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
  5. ภาษีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
              เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกกฎหมายหนึ่งที่มีเงื่อนไขในการได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ประเภทรายได้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามที่ระบุในบัตรส่งเสริมต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากในบัตรส่งเสริมการลงทุนระบุให้สิทธิสำหรับกิจการผลิตสินค้า X ต้องเป็นรายได้จากการผลิตสินค้า X จำหน่ายเท่านั้น กรณีมีการรับจ้างผลิตสินค้า X จะมีความเสี่ยงว่ารายได้จากการรับจ้างจะไม่ใช่รายได้ที่ได้รับสิทธิตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ต้องพิจารณาให้ดี
  6. ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศ
    - บริษัทรับเป็นนายหน้าตัวแทนในการขายสินค้าให้บริษัทต่างประเทศเพียงเจ้าเดียวอาจถูกถือว่าเป็นตัวแทนก่อให้เกิดเงินได้ในประเทศไทยต้องยื่นเสียภาษีแทนบริษัทต่างประเทศตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแต่อาจไม่เป็นหากเข้าข่ายตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 2/2526
    - บริษัทจ่ายค่าสิทธิให้แก่บริษัทในประเทศกัมพูชาที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยและได้รับการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 10% จากปกติต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย15% ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
            ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่านักบัญชีภาษีอากรจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ในด้านภาษีประเภทต่าง ๆ ทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับเชี่ยวชาญให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรในอันจะเสียภาษีหรือใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วนต่อไป

เรียบเรียงโดย..นางชลลดา ฟูวัฒนศิลป์
ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านภาษีอากร


โพสต์เมื่อ :
15 เม.ย. 2563 15:03:45
 9775
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์