• Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • นักบัญชีภาษีกับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI)

นักบัญชีภาษีกับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI)

  • Home

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • นักบัญชีภาษีกับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI)

นักบัญชีภาษีกับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI)

            ในการทำบัญชีของกิจการ SME นั้นเป็นที่ทราบกันดีของนักบัญชีว่าจัดทำงบการเงินปิดบัญชีตามมาตรฐานบัญชี (NPAEs) แล้วในการยื่นเสียภาษีประจำปี นักบัญชีจะต้องทำการปรับปรุงบัญชีการเงินให้เป็นไปตามหลักการบัญชีภาษีอากร กล่าวคือ นักบัญชีจะต้องปรับปรุงบัญชีการเงินให้เป็นไปตามประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องกับกิจการทุกมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี ตลอดจนกฎหมายลำดับรองลงไป เช่น พระราชกฤษฎีกากฎกระทรวงประกาศอธิบดี เป็นต้น
            แต่สำหรับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นักบัญชีจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ปี 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีข้อยกเว้นในการจัดเก็บอากรขาเข้าของกรมศุลกากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี หัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากบริษัทตลอดจนหักค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่สามารถหักได้เพิ่มอีกเท่าตัว (เป็นเวลา 10 ปี) หรือนำผลขาดทุนสุทธิทางภาษีในช่วงที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (ได้รับยกเว้นภาษีสูงสุด 8 ปี) ซึ่งบริษัทจะนำไปหักออกจากกำไรสุทธิทางภาษีปีไหนก็ได้ เมื่อสิ้นสุดการได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้วภายในระยะเวลา 5 ปี รวมระยะเวลาสูงสุดถึง 13 ปี ยาวนานกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายประมวลรัษฎากร ซึ่งมีกำหนดให้นำขาดทุนสุทธิยกมาได้ไม่เกิน 5 ปี
            ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่านักบัญชีที่ทำบัญชีของกิจการ SME ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแล้วนักบัญชีจะต้องมีความรู้เรื่องการขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของ BOI และจะต้องปฏิบัติตามระเบียบในประกาศของ BOI
            สำหรับการทำบัญชีให้กิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน นักบัญชีควรจะต้องวางแผนร่วมกับเจ้าของกิจการตั้งแต่เริ่มต้นการขอรับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นอย่างมากในการขอได้รับสิทธิผลประโยชน์ทางด้านภาษีให้ครบถ้วน โดยเริ่มตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานจนกระทั่งกิจการดำเนินงานที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่มีสาระสำคัญบางข้อที่นักบัญชีควรรู้ เป็นต้น ดังนี้

  1. หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จถ้ามีการนำเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต กิจการสามารถขอยกเว้นค่าอากรขาเข้าของเครื่องจักร และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำเข้าเครื่องด้วยในคราวเดียวกัน ซึ่งในการขอยกเว้นค่าอากรขาเข้าเครื่องจักรนี้กิจการสามารถเลือกใช้สิทธิขอยกเว้นอากรขาเข้า ตาม BOI หรืออาจใช้สิทธิขอยกเว้นค่าอากรตามข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้าก็ได้
  2. กิจการ SME ที่จะต้องนำวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตจะได้รับยกเว้นค่าอากรขาเข้าและยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในคราวเดียวกันการใช้สิทธิข้อนี้จะช่วยให้กิจการมีกระแสเงินสดในมือมากขึ้น ไม่ต้องไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอเครดิตภาษีภายหลังจาก SME ได้ส่งออกแล้วกิจการจะต้องขอยื่นสูตรการผลิตในการใช้วัตถุดิบเพื่อตัดภาระอากรของวัตถุดิบที่นำเข้ามาให้ถูกต้องตามระเบียบของ BOI
  3. การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น นักบัญชีจะต้องรู้ว่าวันเริ่มต้นในการขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของ BOI จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มออก Invoice หรือใบกำกับภาษีใบแรกจนกระทั้งถึงวันที่ที่ออก Invoice หรือใบกำกับภาษีใบสุดท้ายของวันที่สิ้นสุดการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI เป็นเท่านั้นซึ่งจะเห็นได้ว่ารอบระยะเวลาในการขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ของ BOI จะไม่ตรงกับรอบระยะเวลาบัญชีการเงินประจำปี กล่าวคือปีแรกที่ขอได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการ SME ที่นำเครื่องจักรเก่ามาขอได้รับการส่งเสริมใหม่และปีสุดท้ายที่ส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลงซึ่งกิจการ SME จะมีกำไรที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและรายการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้แยกรายการคำนวณภาษีออกจากกัน
  4. เรื่องการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นสำหรับกิจการ SME ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้นเมื่อดำเนินงานแล้วมีกำไรสะสมมากพอที่จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น กิจการสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการยื่นภาษีเงินได้ (ภงด.90) ประจำปีอีกด้วย ตลอดจนระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุนแต่ทั้งนี้นักบัญชีจะต้องรู้ว่าเงินปันผลจะต้องจ่ายกำไรสะสมให้หมดภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้วเท่านั้นจึงจะได้รับยกเว้นภาษี
  5. สาระสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น กิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะต้องรายงานความคืบหน้าโครงการต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานกำหนดนับแต่ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนภายในเดือนกุมภาพันธ์และกรกฎาคมของทุกปี จนกว่าจะได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการ
  6. เรื่องการเปิดดำเนินการซึ่งมีสาระสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับกิจการ SME ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนภายในระยะเวลา 36 เดือน กิจการจะต้องแจ้งขอเปิดดำเนินการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ BOI มาตรวจสอบว่ากิจการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุนถูกต้องหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเครื่องจักรที่ลงทุนและกำลังการผลิตที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กิจการจะต้องมีจำนวนผลผลิตไม่เกินกำลังการผลิตที่ BOI อนุมัติมาก่อนหน้านี้และหลักจากเปิดดำเนินการแล้วเจ้าหน้าที่จะปรับตามกำลังการผลิตของเครื่องจักรให้ตรงตามข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งเพื่อใช้เป็นหลักในการขอยกเว้นภาษีในปีถัดไปซึ่งนักบัญชีจะต้องทราบว่าถ้ากำลังการผลิตและขยายเกินกว่าที่ BOI กำหนดรายได้จากการขยายผลผลิตดังกล่าว จะเป็นรายการ NON BOI ที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแยกต่างหาก

            จากการที่กล่าวมาข้างต้น ถ้านักบัญชีได้ปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษของ BOI ก็จะทำให้กิจการ SME นั้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด

โดย..นายธนกร พรหมไตรรัตน์
กรรมการ ในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร


Post Date :
1 Jun 2020 13:20:28
 11406
Visitor
Create a website for free Online Stores